backup og meta

วิธีการทำ ซีพีอาร์ (CPR) ที่ถูกต้อง สำหรับการกู้ชีพในสถานการณ์คับขัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    วิธีการทำ ซีพีอาร์ (CPR) ที่ถูกต้อง สำหรับการกู้ชีพในสถานการณ์คับขัน

    บ่อยครั้งเมื่อประสบเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น มีคนหัวใจวาย หรือประสบอุบัติเหตุ และหัวใจเต้นผิดปกติ หรืออาจจะหยุดเต้น อาจจำเป็นต้องทำการปฐมพยาบาลเพื่อกู้ชีพ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือการทำ ซีพีอาร์ (CPR) เป็นวิธีการที่สำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้มีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น วิธีการทำซีพีอาร์นั้นสามารถทำได้อย่างไร Hello คุณหมอ ขอพาคุณมาหาคำตอบจากบทความนี้

    การทำ ซีพีอาร์ (CPR) คืออะไร

    คำว่า CPR ย่อมาจากคำว่า Cardiopulmonary resuscitation หมายถึงการทำให้ปอดและหัวใจฟื้นคืนชีพขึ้นมา การทำซีพีอาร์ นั้นเป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยคืนชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยผสมผสานระหว่าง การผายปอด เพื่อช่วยเพิ่มอากาศเข้าไปในปอด และการกดหน้าอกบนตำแหน่งหัวใจ เพื่อช่วยให้หัวใจปั๊มเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนส่งต่อออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ

    การทำ CPR นี้มักจะใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เช่น คนจมน้ำ คนหัวใจวาย หรือคนถูกไฟดูด วิธีการนี้จะใช้ได้ผลดีที่สุด หากผู้ปฏิบัติทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตนั้นเป็นผู้ที่เคยผ่านการฝึกฝนมาแล้ว เพราะวิธีการทำ CPR นี้ หากกระทำโดยไม่มีความรู้ หรือไม่ผ่านการฝึกฝนมาก่อน อาจส่งผลให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ เช่น กระดูกซี่โครงหัก และทิ่มในปอดหรือม้าม หรือกดแรงเกินไปจนทำให้หัวใจช้ำ หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ที่แทนที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ จะกลับกลายเป็นการทำร้ายผู้ประสบเหตุไปเสียได้

    การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการ CPR จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ประสบเหตุมีอาการดังต่อไปนี้

    • ไม่หายใจ หรือหายใจผิดปกติ ผู้ที่มีอาการหัวใจวายบางรายอาจจะมีอาการหายใจหอบ พะงาบๆ แต่ก็ยังจำเป็นต้องทำ CPR โดยไม่ต้องรอให้หยุดหายใจไปก่อน
    • ชีพจรหยุดเต้น
    • ผู้ป่วยหมดสติ

    หากไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนี้ ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ CPR เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

    ขั้นตอนในการทำซีพีอาร์อย่างถูกต้อง

    ก่อนเริ่มการทำ CPR ควรตรวจดูดังต่อไปนี้

    • บริเวณรอบๆ นั้นปลอดภัยหรือไม่
    • ผู้ประสบเหตุหมดสติหรือไม่
    • หากผู้ประสบเหตุดูเหมือนว่าจะหมดสติ ให้ลองสะกิดเรียก หรือเขย่าตัวเรียกดังๆ หากไม่มีการตอบสนองจากผู้ประสบเหตุ ให้โทรเรียกรถฉุกเฉินในทันที

    แนวทางในการปฏิบัติการปฐมพยาบาลช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐานนั้น จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ตามลำดับ C-A-B คือ กดหน้าอก (Chest compression) – เปิดทางเดินหายใจ (Airway) – ผายปอด (Breathing) โดยมีจำนวนครั้งคือ

    กดหน้าอก 30 ครั้ง – เปิดทางเดินหายใจ – ผายปอด 2 ครั้ง

    ซีพีอาร์ กดหน้าอก

    C : การกดหน้าอก

    การกดหน้าอกปั๊มหัวใจ จะช่วยให้เลือดของผู้บาดเจ็บกลับมาไหลเวียนได้ เพื่อลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย การกดหัวใจจะเป็นการกดกระดูกหน้าอกให้ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกสองอันนี้ถูกกดลงไปด้วย เป็นการบีบเลือดออกจากหัวใจ เมื่อปล่อยแรงกด ก็เป็นการปล่อยแรงบีบของหัวใจ

    1. จับให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นแข็ง หรือใช้ไม้กระดานรองหลังของผู้บาดเจ็บ ผู้ที่จะทำการปฐมพยาบาลให้คุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้บาดเจ็บ แล้วคลำหาส่วนล่างที่สุดของกระดูกอกที่ติดกับกระดูกซี่โครง โดยใช้นิ้วไล่ชายโครงขึ้นมา
    2. วางนิ้วชี้และนิ้วกลางลงในตำแหน่งระหว่างรอยต่อของกระดูกซี่โครงกับกระดูกอกส่วนล่างสุด โดยเอาสันมือวางไว้บนหน้าอกด้านซ้าย ในตำแหน่งที่ถัดออกไปจากนิ้วชี้และนิ้วกลางนั้น หากไม่แน่ใจว่าตำแหน่งของกระดูกซี่โครงอยู่ตรงไหน ให้วางสันมือข้างที่ไม่ถนัดลงตรงกลางหน้าอก ระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง
    3. วางมืออีกข้างหนึ่ง (ข้างที่ถนัด) ทับลงบนหลังมือก่อนหน้า เหยียดนิ้วมือตรง และเกี่ยวนิ้วมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน เหยียดแขนให้ตรง โน้มตัวลงตั้งฉากกับผู้บาดเจ็บ และทิ้งน้ำหนักลงบนแขนเพื่อกดหน้าอกผู้บาดเจ็บ กดให้ลึกลงอย่างน้อย 2 นิ้ว
    4. กดหน้าอกแต่ละครั้งโดยใช้จังหวะและแรงกดที่คงที่ โดยอาจใช้วิธีนับเป็น หนึ่ง และสอง และสาม และสี่ โดยกดเมื่อนับตัวเลข และปล่อยตอนคำว่า “และ” ทำสลับกันไป
    5. กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการผายปอด 2 ครั้ง

    A : เปิดทางเดินหายใจ

    การเปิดทางเดินหายใจ เป็นการทำให้ทางเดินหายใจโล่ง เนื่องจากผู้ป่วยที่หมดสติอาจมีโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบนได้ โดยทำได้ดังต่อไปนี้

    • หากผู้ป่วยไม่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ ให้ใช้วิธีหงายหน้าและเชยคาง
    • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บของไขสันหลัง ให้ใช้มือทั้งสองข้าง จับด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของศีรษะ
    • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอ ให้เปิดทางเดินหายใจโดยการยกขากรรไกร คือดึงขากรรไกรทั้ง 2 ข้างขึ้นไปด้านบน

    ซีพีอาร์ ผายปอด

    B : ผายปอด 

    เป็นการช่วยหายใจ โดยการเป่าลมเข้าไปในปอดของผู้ป่วย เพื่อรักษาระดับของออกซิเจนในปอดของผู้ป่วย ไม่ให้ขาดอากาศหายใจ ทำหลังจากการกดหน้าอกไปแล้ว 30 ครั้ง

    วิธีผายปอดมีดังต่อไปนี้

    ผายปอดแบบปากต่อปาก (Mouth-to-Mouth) ให้ผู้ทำการผายปอดสูดหายใจเข้าไปจนเต็มที่ ประกบปากกับผู้ป่วยให้สนิท อุดจมูกผู้ป่วย แล้วเป่าลมเข้าไปในปอด โดยเป่าให้นานประมาณ 5-6 วินาทีต่อครั้ง ขณะเป่าให้ชำเลืองมองดูว่า ทรวงอกของผู้ป่วยขยับหรือไม่ จะได้ทราบว่ามีลมเข้าไปในปอดหรือไม่

    ผายปอดแบบปากต่อจมูก (Mouth-to-Nose) หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่ปาก หรือเป็นเด็กเล็ก อาจใช้วิธีปิดปากผู้ป่วย แล้วเป่าลมเข้าทางจมูกแทน โดยเป่าให้นานประมาณ 5-6 วินาทีต่อครั้ง

    การช่วยหายใจขั้นสูงโดยใช้อุปกรณ์ช่วย (Advanced Airway) ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ก่อนแล้ว ให้ช่วยหายใจในอัตรา 1 ครั้ง ทุกๆ 6-8 วินาที

    ทำตามขั้นตอน C-A-B กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับผายปอด 2 ครั้ง สลับไปเรื่อยๆ หากเป็นไปได้ ควรมีผู้ช่วยเหลือ 2 คน และสลับตำแหน่งกันเมื่อทำการช่วยหายใจไปครบ 5 รอบ ทำต่อเนื่องไปจนกว่าการช่วยเหลือจากหน่วยพยาบาลจะมาถึง 

    ซีพีอาร์ เด็กการทำ CPR สำหรับเด็กทารก และเด็กเล็ก

    การทำ CPR สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปีลงมา อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกันเล็กน้อย

    สำหรับเด็กอายุ 1-8 ปี

    1. ให้กดหน้าอก โดยใช้เพียงแค่ใช้ส่วนส้นมือที่ติดกับข้อมือเท่านั้น และกดหน้าลงแค่ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก
    2. จากนั้นจึงทำตามขั้นตอนการทำ CPR ตามปกติ

    สำหรับเด็กทารก อายุไม่เกิน 1 ปี

    1. จับให้เด็กนอนหงาย ไม่ต้องหงายคอของเด็ก หรือเชยคางเด็กขึ้น
    2. ผายปอด โดยการประกบปากครอบทั้งบริเวณปากและจมูกของทารกให้แนบสนิท เป่าลมเข้าไปเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น อย่านาน
    3. กดหน้าอก โดยการใช้นิ้ว 2 นิ้ว กดลงไปบนหน้าอก ในความลึกเพียงแค่ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก
    4. จากนั้นจึงทำตามขั้นตอนการทำ CPR ตามปกติ

    อันตรายจากการทำ CPR ผิดวิธี

    • การวางมือผิดตำแหน่ง อาจส่งผลทำให้ซี่โครงหักได้ และซี่โครงที่หักนี้ อาจจะไปทิ่มแทงโดนอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ตับ ม้าม แล้วทำให้เกิดการตกเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
    • การกดหน้าอกด้วยอัตราความเร็วที่มากเกินไป เบาเกินไป หรือถอนแรงหลังกดออกไปไม่หมด อาจทำให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อย และทำให้ขาดออกซิเจนได้
    • การกดหน้าอกแรงและเร็วเกินไป อาจทำให้กระดูกหน้าอกขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้กระดูกหัก หรือหัวใจช้ำได้
    • การกดหน้าอกลงไปลึกเกินไป อาจส่งผลให้หัวใจช้ำได้
    • การเปิดทางเดินหายใจไม่เต็มที่ หรือการเป่าลมมากเกินไป ทำให้ลมเข้าในกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด อาเจียน ทำให้ลมไม่เข้าปอด หรือเข้าปอดไม่สะดวก และทำให้ปอดขยายตัวได้อย่างไม่เต็มที่

    หากผู้ป่วยเกิดอาการอาเจียนก่อนการทำ CPR หรือระหว่างการทำ CPR ให้ล้วงเอาเศษอาหารก่อนเป่าลม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เศษอาหารอุดในทางเดินหายใจได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา