อากาศร้อน ฝนตก รถติด ผลการเรียนไม่ดี โดนเจ้านายบ่น แต่ละวันมีสารพันปัญหากระทบจิตใจ ทำให้เราเครียดจนแทบทนไม่ไหว และคงไม่มีใครอยากให้ความเครียดอยู่กับเราตลอดไป แต่ละคนจึงต้องสรรหากิจกรรมแก้เครียด เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เล่นเกม ฟังเพลง ท่องเที่ยว และที่ขาดไม่ได้คงเป็น “การกิน” ที่ถือเป็นวิธีแก้เครียดที่ใครหลายคนโปรดปราน แต่ใครที่ชอบ กินแก้เครียด ก็ต้องระวังเอาไว้ให้ดี เพราะหากเครียดเมื่อไหร่เป็นต้องกิน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้
กินแก้เครียด… ทำไมเครียดแล้วต้องกิน
เมื่อคนเราเครียด ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอล หรือที่เรียกกันว่าฮอร์โมนความเครียดออกมาเพื่อรับมือกับความเครียด แต่หากมีคอร์ติซอลมากเกินไป อาจทำให้มีปัญหาในการนอน วิตกกังวล รวมไปถึงทำให้อยากอาหารมากกว่าปกติได้ด้วย เมื่อเราหายเครียดคอร์ติซอลในร่างกายก็จะลดลงสู่ระดับปกติ แต่หากเรามีความเครียดสะสม เกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่สร้างจากกระเพาะอาหารและรู้จักกันในชื่อของ “ฮอร์โมนความหิว” จะถูกหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่มีรสชาติ หวาน เค็ม หรืออาหารไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เค้ก เป็นต้น
ความเครียดนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการกินแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับระบบเมตาบอลิซึม ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลงอีกด้วย โดยผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการศึกษากับกลุ่มอาสาสมัครหญิงระบุว่า หลังจากกินอาหารไขมันสูงไปแล้ว 7 ชั่วโมง อาสาสมัครกลุ่มที่มีอาการเครียดจากงานหรือปัญหาครอบครัวสามารถเผาผลาญพลังงานได้น้อยกว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่เครียดถึง 104 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว
หิวจริงหรือกินเพราะเครียด สังเกตได้อย่างไร
สัญญาณของอาการกินแก้เครียด สังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้
- กินโดยไม่รู้ตัว
- กินเพราะไม่มีอะไรทำ
- รู้สึกผิดหรือละอายใจทุกครั้งหลังกินเสร็จ
- กินคนเดียว หรือกินอาหารในที่แปลกๆ เป็นประจำ เช่น จอดรถหน้าบ้านแล้วกินอาหารในรถ
- พอมีเรื่องให้เครียด เช่น ทะเลาะกับแฟน ก็ต้องกิน แม้จะไม่หิวเลยก็ตาม
- เวลาเครียด คุณจะรู้อยากกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น อยากกินช็อกโกแลตทุกครั้งที่เครียด
- พอเห็นโฆษณาอาหารทางทีวีหรืออินเตอร์เน็ต ก็อยากออกจากบ้านไปกินอาหารนั้นทันที
- เวลาที่คุณเครียด รู้สึกเบื่อๆ หรือแก้ปัญหาไม่ตก คุณมักจะกิน เพราะการกินทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น
หากคุณมีพฤติกรรมข้างต้น แถมชอบกินอาหารในปริมาณมากๆ หรือมักจะกินจนแทบจะอาเจียน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าการกินแก้เครียดของคุณกำลังทำให้คุณเป็นโรคกินไม่หยุด ซึ่งถือเป็นปัญหาการกินร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
เครียดแล้วกิน พฤติกรรมนี้แก้ไขได้
การยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนอกจากจะช่วยควบคุมการกินแก้เครียดของคุณได้แล้ว ยังช่วยเปลี่ยนความเครียดของคุณเป็นพลังด้านบวกได้อีกด้วย หากคุณประสบกับปัญหากินแก้เครียดและอยากหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้
-
ค้นหาต้นตอความเครียด
แต่ละคนมีต้นตอความเครียดที่นำไปสู่ปัญหากินแก้เครียดไม่เหมือนกัน บางคนกินเพราะเครียดเครื่องความรัก บางคนกินเพราะเครียดเรื่องงาน บางคนกินเพราะเครียดเรื่องครอบครัว เป็นต้น หากคุณหาต้นตอความเครียดของตัวเองเจอ ก็จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น โดยอาจจะบันทึกการกินอาหาร ที่ระบุว่าแต่ละวันคุณกินอาหารอะไร และมีความรู้สึกอย่างไรตอนกินอาหารนั้นๆ ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยหาต้นตอความเครียดของคุณได้
-
หาวิธีคลายเครียดใหม่
เมื่อคุณพบต้นตอของความเครียด ซึ่งเป็นตัวการทำให้คุณกินเยอะกว่าเดิมแล้ว ก็ควรจัดระบบในการดูแลตัวเองเสียใหม่ เพื่อให้สุขภาพของคุณดียิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องกิน เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด เช่น หากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานตึงเครียดมาก ลองชวนเพื่อนร่วมงานไปเดินเล่นหลังกินอาหารกลางวัน เพราะนอกจากจะช่วยจำกัดความเครียดได้แล้ว ยังช่วยเผาผลาญไขมันได้อีกด้วย หรือหากใครเครียดเพราะปัญหาที่บ้าน ลองปลีกตัวไปหามุมเงียบนั่งสมาธิ หรือสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นก็ได้
-
ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
การออกกำลังกายถือเป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบความเข้มข้นต่ำที่มุ่งเน้นด้านการหายใจ เช่น โยคะ พิลาทิส รวมไปถึงการเดินเล่นในสวนสาธารณะ ก็สามารถช่วยลดคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนเครียดได้ดีเช่นกัน
-
ลองจดบันทึก
มีการศึกษาวิจัยที่พบว่า ประโยชน์สุขภาพอย่างหนึ่งของการจดบันทึกก็คือ ช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากใครที่เครียดแล้วต้องคว้าอาหารที่ไม่มีประโยชน์เข้าปาก จนน้ำหนักตัวขึ้น หรือมีปัญหาสุขภาพ ลองเปลี่ยนมาคลายเครียดด้วยการคว้าปากกาจดบันทึกลงบนสมุด หรือในโทรศัพท์มือถือแทนดูก็ได้
-
ขอความช่วยเหลือ
หากคุณลองทำวิธีข้างต้นแล้วยังหยุดกินแก้เครียดไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือหรือพูดคุยกับคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับมือกับการกินแก้เครียด รวมไปถึงวิธีจัดการกับความเครียดที่คุณเผชิญอยู่
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด