backup og meta

หัวร้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร และควรควบคุมอารมณ์อย่างไร

หัวร้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร และควรควบคุมอารมณ์อย่างไร

หัวร้อน ไม่ได้หมายถึงศีรษะที่ร้อนเพราะสภาพอากาศร้อนอบอ้าวของเมืองไทย แต่หมายถึงอาการหงุดหงิดหรือโกรธซึ่งอาจเกิดจากปัญหาชีวิต การทำงาน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพจิตหรือจากสาเหตุอื่น ๆ จนบางคนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่นทั้งทางวาจาและทางกาย ดังนั้น การเรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ตัวเองและวิธีรับมือเมื่อต้องอยู่กับคนหัวร้อน จึงอาจช่วยให้หลายคนสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

[embed-health-tool-heart-rate]

หัวร้อน เกิดจากอะไร

หัวร้อน คือ สภาวะทางอารมณ์ เช่น ความหงุดหงิด ความโกรธ ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ โดยบางคนอาจมีอารมณ์หัวร้อนอย่างเฉียบพลันจากสิ่งยั่วยุเพียงเล็กน้อย หรือบางคนอาจเกิดจากการสะสมของอารมณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และแสดงออกมาเป็นอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ จนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การเหวี่ยงวีน การตะคอก ด่าทอ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนกระทำผิดหรือไม่ก็ตาม

หัวร้อนเป็นปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่

หัวร้อนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากปัญหาในชีวิต ปัญหาสุขภาพ สุขภาพจิต หรือปัญหาอื่น ๆ ดังนี้

  • ความเครียดในชีวิต เช่น การหย่าร่าง การทำงาน ฐานะทางการเงิน ความเหงา ความเหนื่อยล้า สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้นทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดและหัวร้อนได้
  • การนอนหลับไม่เพียงพอ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาการนอนไม่หลับ สามารถทำให้ร่างกายอ่อนล้า กระตุ้นให้เกิดความเครียดมากขึ้นและอาจทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดได้เช่นกัน
  • การรับประทานคาเฟอีน เมื่อรู้สึกอ่อนเพลียหรือนอนหลับไม่เพียงพอ การรับประทานคาเฟอีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นได้ แต่เมื่อคาเฟอีนหมดฤทธิ์ ความอ่อนเพลียก็จะกลับคืนมาซึ่งสามารถกระตุ้นความหงุดหงิดและทำให้หัวร้อนได้
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะสมองเสื่อม กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) น้ำตาลในเลือดต่ำ ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาต่อมไทรอยด์ การบาดเจ็บที่สมอง อาการปวดเรื้อรัง
  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ความวิตกกังวล ภาวะถอนพิษสารเสพติด (Substance Withdrawal) โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) ความเครียด โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder หรือ SAD)

วิธีควบคุมอารมณ์เพื่อจัดการกับอาการหัวร้อน

หากเจอปัญหามาตลอดทั้งวันหรือสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนกระตุ้นให้เกิดอาการหงุดหงิดหัวร้อน สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หายใจเข้าออกช้า ๆ เมื่อรู้สึกหัวร้อนให้หายใจเข้าออกช้า ๆ จากนั้นนับ 1-10 หรือนับไปเรื่อย ๆ จนกว่าอารมณ์จะเย็นลง ซึ่งเป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้
  • ปรับความคิดของตัวเองใหม่ เป็นวิธีการคิดบวกที่จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น เมื่อรู้สึกว่าไม่ชอบการทำงาน ให้ลองปรับมุมมองความคิดใหม่ว่าแต่วันนี้ได้ไปเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ได้กินข้าวอร่อย ๆ ตอนพักกลางวัน หรือได้นั่งทำงานในมุมสวย ๆ ก็อาจช่วยให้มีอารมณ์ที่ดีขึ้น
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุขที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้
  • หากิจกรรมทำเพื่อจัดการกับอารมณ์ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เดินเล่น ไปเที่ยว วาดรูป ทำสวน เป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียดให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และยังช่วยให้สภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นตามไปด้วย
  • พักผ่อนร่างกายและจิตใจบ้าง บางคนอาจมีอารมณ์หัวร้อนรุนแรงเพราะความเครียดและความเหนื่อยจากการทำงาน จึงควรหาวันหยุดเพื่อหยุดพักจากการทำงานบ้าง จะสามารถช่วยปรับอารมณ์และความเครียดภายในจิตใจได้
  • พูดคุยกับคนรอบข้าง บางครั้งการเก็บอารมณ์ ความคิดและความรู้สึกทุกอย่างไว้ที่ตัวเองคนเดียว อาจยิ่งทำให้เกิดความเครียดและอารมณ์หัวร้อนมากขึ้น จึงควรพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อช่วยระบายความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้น บางทีคนรอบข้างอาจช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

วิธีรับมือเมื่อต้องอยู่กับคนหัวร้อน

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานหรืออยู่ร่วมกับคนหัวร้อน วิธีรับมือเมื่อเจอกับคนหัวร้อนอาจสามารถทำได้ ดังนี้

  • เลือกที่จะไม่คุยกับใคร ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะคุยหรือไม่คุยกับใคร ซึ่งวิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการหลีกเลี่ยงคนหัวร้อน โดยเฉพาะหากเจอคนหัวร้อนใส่โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเรา ก็ควรพิจารณาแล้วว่าควรจะเลือกคุยแบบสนิทสนมกับคนคนนี้ต่อไปอีกหรือไม่ แต่หากจำเป็นต้องคุยเพราะเรื่องงานก็ให้คุยเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น ซึ่งเป็นการเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่จะต้องเป็นตัวรองรับอารมณ์ของคนหัวร้อนโดยใช่เหตุ
  • ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ และใช้สติมากกว่าอารมณ์ เมื่อเจอคนหัวร้อนใส่สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติและควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ เพราะการขาดสติและตอบกลับด้วยอารมณ์อาจทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิมได้
  • หลีกเลี่ยงการปะทะและยอมแพ้บ้าง การปะทะกับคนหัวร้อนอาจไม่ใช้ทางออกที่ดีเสมอไป เพราะการขาดสติและปะทะกันด้วยความรุนแรงทั้งทางวาจาหรือร่างกาย อาจยิ่งทำให้เรื่องใหญ่โตและบานปลายไปใหญ่ ดังนั้น หากเราพิจารณาแล้วว่าการโต้เถียงกับคนหัวร้อนไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและตัวเราเองก็ไม่ได้ผลดีอะไรจากเหตุการณ์นี้ ให้เราเป็นฝ่ายยอมแพ้เพื่อหยุดความรุนแรง ซึ่งในทางกลับกันเราอาจจะเป็นฝ่ายที่ดูดีในสายตาคนรอบข้างมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
  • ฟังมากกว่าพูด โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานการณ์ที่คนหัวร้อนกำลังระบายอารมณ์ใส่เรา ให้เราเงียบและรับฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจากนั้นใช้สติพิจารณาเรื่องราวทั้งหมด บางทีเราอาจจะมองเห็นแง่มุมบางอย่างที่อีกฝ่ายต้องการสื่อสาร เพียงแต่บุคคลนั้นอาจมีปัญหาในด้านของการสื่อสารหรือการควบคุมอารณ์ด้วยสาเหตุหนึ่ง จึงทำให้สื่อสารออกมาด้วยอารมณ์หัวร้อนใส่ผู้อื่น
  • เมื่ออารมณ์เย็นลงค่อยกลับมาคุยกันใหม่ เมื่อปล่อยให้อีกฝ่ายพูดและระบายอารมณ์ออกมาควรแยกย้ายกันซักครู่เพื่อปรับอารมณ์ให้เย็นลง จากนั้นค่อยกลับมาคุยกันอีกครั้ง เพื่อใช้สติและเหตุผลในการพูดคุยก็จะช่วยให้ทั้งคู่เข้าใจกันมากขึ้น และผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างง่ายดาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Irritability and feeling on edge. https://www.healthdirect.gov.au/irritability-and-feeling-on-edge#:~:text=It’s%20common%20to%20feel%20irritable,disorder%2C%20or%20a%20physical%20condition. Accessed March 6, 2023

Irritable mood and the Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2773760/. Accessed March 6, 2023

Signs of Anger Issues. https://www.webmd.com/mental-health/signs-anger-issues. Accessed March 6, 2023

Intermittent explosive disorder. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/intermittent-explosive-disorder/symptoms-causes/syc-203739213. Accessed March 6, 2023

Managing Stress. https://www.nami.org/Your-Journey/Individuals-with-Mental-Illness/Taking-Care-of-Your-Body/Managing-Stress. Accessed March 6, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/03/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อารมณ์โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ จะจัดการอารมณ์นี้อย่างไรดี

ความวิตกกังวลกับความโกรธ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา