backup og meta

คนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น (Toxic People) ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณอย่างไรบ้าง

คนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น (Toxic People) ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณอย่างไรบ้าง

คุณเคยมีเพื่อนที่เหมือนจะดี แต่ก็ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขไหม ? หรือว่าในที่ทำงาน มีเพื่อนร่วมงานที่คุณไม่อยากพูดคุยกับเขาเลย เพราะแค่เห็นหน้าก็รู้สึกไม่สบายใจแล้ว บทความนี้ชวนมาดู คุณสมบัติของคนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น  (Toxic People)  ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วการคบกับพวกเขา จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณได้อย่างไรบ้าง

คนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น มีลักษณะอย่างไร

คนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น (Toxic People) มักจะมีลักษณะร่วมกันดังต่อไปนี้ มาลองดูกันว่าเพื่อนของคุณ หรือตัวคุณเองมีลักษณะแบบนี้หรือเปล่า

1.ชอบใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ – คนที่เป็นพิษต่อผู้อื่นมักจะชอบใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ โดยจะพยายามทำให้คนอื่น ยอมทำตามในสิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเดือนร้อนหรือไม่ เช่น ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา รบกวนผู้อื่นอยู่ตลอด เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

2. ชอบวิจารณ์และตัดสินทุกอย่าง – ควรระวังการวิพากษ์วิจารณ์จากคนพวกนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่คุณควรนำมาใส่ใจ เนื่องจากพวกเขามักจะตัดสินคนอื่น ว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ คนนั้นเป็นคนไม่ดี คนนี้ไม่สวย ไม่หล่อ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นก็ได้ คุณควรรับฟังข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อนที่จะตัดสินใจอะไร

3. ไม่เคยโทษตัวเองเลย – บางคนก็ไม่เคยรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ เวลาเกิดปัญหาต่างๆ ก็จะโทษผู้อื่นไว้ก่อน หรือกล่าวโทษโชคชะตา ผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ทุกอย่างผิดไปหมด ยกเว้นตัวเอง

4. ไม่เคยขอโทษ – เพราะโทษคนอื่นตลอด พวกเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด ก็เลยไม่เคยขอโทษ

5. เล่นบทเหยื่อตลอดเวลา (Playing the victim) – Toxic People มักจะเล่นบทเป็นผู้ถูกกระทำ และทำเหมือนว่าเป็นเหยื่ออยู่ตลอดเวลา เช่น เล่าให้คนอื่นฟังว่าโดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หรือเล่าให้ทุกคนฟังว่าโดนกระทำอย่างไรบ้าง แต่พวกเขาจะไม่เคยเล่ามุมที่ไม่ดีของตัวเองเลย

งานวิจัยชี้ ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ทำให้สุขภาพแย่ลงได้

ถ้าคุณมีเพื่อนที่เป็นลักษณะคนที่เป็นพิษต่อผู้อื่น หรือว่าคุณเป็นคนที่เป็นพิษต่อผู้อื่นเสียเอง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ จนทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationships) ที่สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพดังนี้

  • ความสัมพันธ์แย่ๆ ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ – มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น หัวใจวาย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง – นักวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์อย่างรุนแรง มีแนวโน้มว่า จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
  • ความเครียดเรื้อรัง – ความสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกเครียดตลอดเวลา อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ จนส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายในที่สุด

ควรทำอย่างไร ถ้าคุณมีToxic People อยู่ใกล้ตัว

  1. ยอมรับว่าคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ – คุณไม่ควรหลอกตัวเองว่ายังมีความสุขอยู่ ทั้งที่คุณไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ถ้าคุณไม่มีความสุข ซึมเศร้า เครียด ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกอะไรเลย คุณก็ควรถามตัวเองว่า จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับคนคนนี้ไว้หรือไม่
  2. ดูแลตัวเอง ให้มากกว่าดูแลคนอื่น – ควรเริ่มดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์ ในวันหยุดคุณก็ควรพักผ่อนและใช้เวลาอยู่กับตัวเองให้มาก เพราะการใช้เวลาไปกับการดูแลตัวเอง ย่อมดีกว่าเอาเวลาไปให้คนที่เขาเป็นพิษต่อคุณ
  3. ตัดขาดความสัมพันธ์ – การเลิกคบใครบางคนนั้นเป็นเรื่องยาก ยิ่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อน แฟน หรือแม้แต่คู่สามีภรรยา ก็ยากที่จะตัดขาดความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และทำให้สุขภาพจิตเสีย จนถึงขั้นที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ และพยายามจบความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนี้ให้ได้

คุณควรจำไว้ว่า คุณยังมีความสัมพันธ์ที่ดีๆอื่นๆอีกในชีวิต เช่น เพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี หรือคนรักที่ดี ดังนั้นถ้าเจอความสัมพันธ์ที่แย่ๆ ก็ควรถอยออกมา และไปใช้เวลากับสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขดีกว่า

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

8 Things the Most Toxic People in Your Life Have in Common. https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-flux/201608/8-things-the-most-toxic-people-in-your-life-have-in-common. Accessed October 28, 2019.

Toxic Friends: Less Friend, More Foe. https://www.webmd.com/women/features/toxic-friends-less-friend-more-foe#1. Accessed October 28, 2019.

Research Shows Bad Relationships Can Also Mean Bad Health. https://www.forbes.com/sites/quora/2018/05/03/research-shows-bad-relationships-can-also-mean-bad-health/#6e1817d21d5e. Accessed October 28, 2019.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/09/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมนออกซิโทซิน เป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก” หรืออะไรกันแน่?

ทำความรู้จักกับ ความสัมพันธ์แบบมากรัก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 28/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา