backup og meta

การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) พฤติกรรมที่นำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2020

    การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) พฤติกรรมที่นำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม

    ปัจจุบันนี้โลกของเรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ชีวิตประจำวันของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเจริญทางเทคโนโลยีอาจไม่ได้ช่วยยกระดับความเจริญทางจิตใจของมนุษย์ให้พัฒนาตามไปด้วยเท่าไหร่นักในบางกรณี ดังที่เรามักจะเห็นการใช้เครื่องมือสื่อสารอันเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกลั่นแกล้ง สร้างความเสื่อมเสียให้กับกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น การใช้โซเชียลเพื่อบูลลี่ผู้อื่น การนำเสนอข่าวปลอมเพื่อสร้างความเกลียดชัง หรือแม้แต่ การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ที่ขณะนี้กำลังเป็นประเด็นใหญ่อยู่ทั่วทุกมุมโลก แล้วการเหยียดเชื้อชาติ นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงได้อย่างไร มาติดตามสาระเรื่องนี้ได้จาก Hello คุณหมอ

    การเหยียดเชื้อชาติ เป็นอย่างไร

    การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายลักษณะและไม่เลือกสถานที่ เป็นพฤติกรรมที่มีอคติต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชาติพันธุ์หรือสีผิว และแสดงออกด้วยการเลือกปฏิบัติกับบุคคลอื่น โดยอาจอ้างอิงสาเหตุจากความไม่ชอบหรือเกลียดชังในเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างหน้าตา หรือภาษาพูด

    ผู้ที่กระทำการเหยียดผู้อื่นจะมีความเข้าใจในมุมมองและความเชื่อที่ตนเองได้รับมาอย่างยาวนานว่า การกระทำของตนเองนั้นเหมาะสม และผู้อื่นที่แตกต่างไม่ควรจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกับตนเอง

    ส่วนผู้ที่ถูกเหยียดนั้น อาจเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมนั้นๆ จึงถูกมองว่าแปลกแยก หรือแตกต่าง บ่อยครั้งที่การเหยียดนำไปสู่การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่การล้อเลียน การกลั่นแกล้ง การบูลลี่ หรือร้ายแรงไปจนถึงขั้นที่มีการทำร้ายร่างกาย และอาจรุนแรงจนถึงขั้นที่อีกฝ่ายมีการเสียชีวิตขึ้นมา

    นอกเหนือไปจากประเด็นของความเชื่อและแนวคิดที่ได้รับปลูกฝังมาอย่างยาวนานจนนำไปสู่การแสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติ อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจจะมีส่วนก็คือ พฤติกรรมของโรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ซึ่งอาจมีที่มาจากความเขินอาย ความไม่คุ้นเคย ความไม่ถนัดทางภาษา และไม่ต้องการที่จะพบปะหรือพูดคุยกับชาวต่างประเทศ หรืออาจแย่กว่านั้นคือ อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือความรู้สึกที่นำไปสู่การเหยียดได้

    ปัญหาที่มาจากการเหยียดเชื้อชาติ

    ปัญหาเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนานในสังคมโลกของเรา การเหยียดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด แต่เมื่อแสดงออกไปแล้ว ผู้ที่ถูกกระทำย่อมได้รับความเจ็บปวด ทางทั้งร่างกายที่อาจมาจากการถูกรุมทำร้าย ทางจิตใจที่อาจมาจากการที่ถูกแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และไม่ว่าเรื่องการเหยียดจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ ผลกระทบต่อสภาพจิตใจย่อมต้องมีผลอย่างแน่นอน

    นอกจากนี้ปัญหาของการเหยียดเชื้อชาติ ยังอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ดังนี้

    • การคุกคาม เช่น การส่งข้อความข่มขู่
    • การทำลายข้าวของ ทั้งการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
    • การทำร้ายร่างกายโดยตรงแก่ตัวบุคคลนั้นๆ
    • การสร้างมุกตลก ถ้อยคำหยาบคายที่เกี่ยวกับสีผิวหรือเชื้อชาติ ซึ่งทำให้ผู้ที่ถูกกระทำต้องรู้สึกแย่ อับอาย หรือสูญเสียความมั่นใจ
    • ถูกแบ่งแยก ถูกปล่อยให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้สังคม ทั้งในโรงเรียน หรือที่ทำงาน
    • ถูกตัดสินจากเชื้อชาติ สีผิว รูปร่างหน้าตา ภาษาที่พูด โดยไม่มองถึงศักยภาพในการทำงาน
    • การถูกทำให้รู้สึกว่าตนเองจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแบบที่คนอื่นต้องการ ซึ่งคนเราควรจะเป็นตัวของตัวเอง ตราบที่ไม่ได้ก่อปัญหาแก่ผู้อื่น หรือคนในสังคม

    ในส่วนของระดับสังคมนั้น ปัญหาการเหยียดอาจนำไปสู่การแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้พลเมืองที่มีความแตกต่างไม่ว่าจะทางใดก็ตาม อาจไม่ได้รับความเท่าเทียมในทางกฎหมาย หรือการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมทั้งในที่สาธารณะ ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นอาจรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นถือเป็นจุดสูงสุดของความเลวร้ายในการเป็นมนุษย์ มนุษย์ควรยึดถือหลักของการอยู่ร่วมกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาอารี และเห็นอกเห็นใจกัน

    การเหยียดเชื้อชาติ-สาเหตุ-ปัญหา-การแก้ปัญหา

    การแก้ปัญหาเพื่อหยุดพฤติกรรมการเหยียดเชื้อชาติ

    การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเหยียดชนชาตินั้น ผู้คนในสังคมต้องตระหนักถึงปัญหาและต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันจากทุกฝ่ายเพื่อผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม (Equality) ในความเป็นมนุษย์ขึ้นในสังคม

    ในสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความสำคัญในการปลูกฝังเพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและสมาชิกในครอบครัว ควรจะมีการปลูกฝังหลักของความเท่าเทียมกันในการใช้ชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน 

    ในระดับสังคมและระดับชาติ ควรต้องมีการส่งเสริม รณรงค์เพื่อให้ผู้คนในสังคมทั้งหลายเข้าใจในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างนั้นอย่างสันติสุข รณรงค์ให้เกิดความเข้าใจหลักของสิทธิมนุษยชน รวมถึงผลักดันให้กฎหมายมีความเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สีผิว หรือรูปลักษณ์แบบใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา