วิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) คือ ความรู้สึกไม่มีความสุข กังวล และรู้สึกผิดหวัง ที่หลายคนจะประสบในช่วงอายุประมาณ 37-59 ปี และภาวะนี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบกับวิกฤตวัยกลางคนอย่างรุนแรง แต่ก็มีหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตวัยกลางคน จนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล หากคุณกำลังเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคน บทความนี้ Hello คุณหมอ ชวนมาตรวจสอบ ‘อาการและสัญญาณ’ ที่บอกว่าวิกฤตวัยกลางคน ส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้ว
วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร
ความจริงแล้ว จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าวิกฤตวัยกลางคนไม่ได้เป็นปัญหาต่อคนส่วนใหญ่ในโลก และไม่ใช่ทุกคนที่จะเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคน ซึ่งวิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) หมายถึงความรู้สึกไม่มีความสุข กังวล และรู้สึกผิดหวัง ที่หลายคนจะประสบในช่วงอายุประมาณ 37-59 ปี
ความรู้สึกต่างๆ ช่วงวัยกลางคนสามารถเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลง หรือการสูญเสียครั้งใหญ่ เช่น การหย่าร้าง หรือพ่อแม่เสียชีวิต และโดยทั่วไปแล้ว หลายคนจะคิดว่าวิกฤตวัยกลางคน คือความรู้สึกกลัวความตาย หรือความปรารถนาที่จะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตวัยกลางคนนี้ อาจไม่แตกต่างจากความทุกข์ที่ใครบางคนกำลังประสบในช่วงวัยอื่นๆ เช่น วัยรุ่น หรือวัยชรา
สัญญาณของวิกฤตวัยกลางคน
หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ และมีอายุ 37-59 ปี อาจหมายความว่าคุณกำลังเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคน
- เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ไม่พอใจกับชีวิต หรือไม่พอใจกับไลฟ์สไตล์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยชอบชีวิตแบบนี้
- รู้สึกกระสับกระส่าย อยากทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมตลอดเวลา
- ตั้งคำถามกับตัวเอง ตั้งคำถามกับชีวิต เช่น เราเกิดมาทำไม หรือตั้งคำถามกับการตัดสินใจที่ได้ตัดสินใจไปก่อนหน้านี้
- รู้สึกสับสนกับตัวตนของตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าต้องการอะไรในชีวิต และไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่อทางไหนดี
- ฝันกลางวัน
- อยู่ดีๆ ก็หงุดหงิด หรือโกรธขึ้นมา
- รู้สึกเศร้าตลอดเวลา
- ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น
- ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น หรือลดลง
- นอกใจหรือคบซ้อน โดยเฉพาะกับคนที่เด็กกว่า
วิกฤตวัยกลางคนเป็นจุดเริ่มต้นของ ปัญหาสุขภาพจิตได้หรือไม่
วิกฤตวัยกลางคนสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น โรคซึมเศร้า โดยข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาชี้ว่า อัตราการเป็นโรคซึมเศร้าของผู้หญิงวัยกลางคน ที่มีอายุ 40-59 ปี อยู่ที่ 12.3% ซึ่งถือว่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในวัยอื่น
การเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยกลางคนอาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับบางคน ดังนั้นจึงควรสังเกตสัญญาณและอาการของภาวะซึมเศร้า หากคุณกำลังเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคนและมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาคุณหมอทันที
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป
- พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป
- รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก
- รู้สึกหมดหวัง และมองโลกในแง่ร้าย
- กระสับกระส่าย วิตกกังวล หรือหงุดหงิด
- รู้สึกผิด หรือรู้สึกไร้ค่า
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
- มีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด