backup og meta

เช็คด่วน อาการแบบนี้อาจเป็นโรคซึมเศร้าไม่รู้ตัว

เช็คด่วน อาการแบบนี้อาจเป็นโรคซึมเศร้าไม่รู้ตัว

สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า เช่น การร้องไห้ การขาดความสนใจในสิ่งที่ทำ หรือถึงขั้นคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้า (Depression) ที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณแปลกๆ ที่อาจหมายถึงโรคซึมเศร้า ดังต่อไปนี้

สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

ทำงานหนักเป็นพิเศษ หรือการบ้างาน

ผู้ที่ซึมเศร้าบางคนอาจกลายเป็นคนบ้างาน หรือทำงานอย่างหนัก เนื่องจากมีงานวิจัยหลายงานวิจัยที่รายงานความเชื่อมโยงระหว่างความกังวล โรคซึมเศร้า และการบ้างาน (workaholism) มากไปกว่านั้นยังมีข้อมูลที่พบว่า การทำงานอย่างหนัก (ในบางกรณี) พัฒนาเป็นความพยายามที่จะลดความรู้สึกไม่สบายใจ ที่เกิดจากความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

หลายคนอาจดีใจที่น้ำหนักตัวลดลง แต่การที่น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้ ถ้าคุณพบว่าตัวเองไม่ได้กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน หรือกินอาหารเพียง 1-2 ครั้งต่อวันโดยไม่ทราบสาเหตุ (หรือในทางตรงกันข้ามคือ กินมากผิดปกติจนน้ำหนักขึ้น) นั่นอาจหมายถึงโรคซึมเศร้า เนื่องจากโรคซึมเศร้าสามารถทำให้ความอยากอาหารลดลง

อารมณ์เสียง่าย

อาการของโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยคือ รู้สึกเศร้าอย่างรุนแรง แต่นอกจากความรู้สึกเศร้าแล้ว ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนสามารถแสดงพฤติกรรม เช่น โมโหง่าย เกรี้ยวกราด ความอดทนต่ำ และตะคอกใส่ผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในผู้ชายหรือวัยรุ่น แต่สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย หากคุณมีอาการหงุดหงิดง่าย ดุด่าคนอื่นบ่อย โดยไม่มีสาเหตุ อาจหมายถึงสัญญาณของโรคซึมเศร้า

เบื่อหน่าย

หนึ่งในอาการที่พบบ่อยของโรคซึมเศร้าคือ ขาดความสนใจในสิ่งที่ทำ หรือรู้สึกไม่มีชีวิตชีวา และเรามักจะมุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกเศร้าและการสูญเสีย แต่แท้จริงแล้วสัญญาณของโรคซึมเศร้าอีกแบบหนึ่งคือ ความรู้สึกเบื่อหน่ายแบบเดิมๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าทุกๆ อย่างดูไม่สนุก และดูน่าเบื่อไปหมด เมื่อรู้สึกเบื่อสะสมไปเรื่อยๆ คุณจะละทิ้งการทำกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งเหลือแค่ความต้องการที่ง่ายที่สุดและน้อยที่สุด เช่น การดูโทรทัศน์ การเล่นอินเทอร์เน็ต และการงีบหลับ หากความรู้สึกเบื่อมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

ความเจ็บปวด

อาการเจ็บปวดทางร่างกาย ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า โดยผู้ป่วยสามารถมีอาการตั้งแต่ อาการเจ็บปวดเล็กน้อยและผิวแพ้ง่าย ไปจนถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง และการย่อยอาหารมีปัญหา หากไม่มีการวินิจฉัยทางการแพทย์สำหรับอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หรืออาการไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาทางการแพทย์ อาการเจ็บปวดของคุณอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิต

มีปัญหาในการตัดสินใจ

ทุกๆ คนมีปัญหาเวลาที่ต้องตัดสินใจด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า การไม่สามารถตัดสินใจได้อาจกลายเป็นปัญหา เช่น ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะดูภาพยนตร์เรื่องอะไร หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะรับถุงพลาสติก จากร้านสะดวกซื้อดีหรือไม่ โดยทุกๆ การตัดสินใจจะดูเป็นเรื่องใหญ่ไปหมด หากคุณมีปัญหาในการตัดสินใจจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์

สัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้าอื่นๆ

ดร.แอนนา ฟาบินี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ แห่งคณะแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ข้อมูลว่า เพื่อที่จะวินิจฉัยโรคซึมเศร้า เธออาจมองหาสัญญาณของโรคซึมเศร้าที่นอกเหนือจากความเศร้า ได้แก่

  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • หมดพลัง
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีปัญหาด้านความจำ และการจดจ่อ
  • เบื่ออาหาร
  • ความเจ็บปวดทางร่างกายที่รักษาไม่หาย

 

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Recognizing the “unusual” signs of depression. https://www.health.harvard.edu/blog/recognizing-the-unusual-signs-of-depression-201302275938. Accessed on January 10 2019.

5 Uncommon Signs of Depression You May Be Overlooking. https://psychcentral.com/blog/5-uncommon-signs-of-depression-you-may-be-overlooking/. Accessed on January 10 2019.

12 Uncommon Symptoms Of Depression You May Be Overlooking. https://www.forbes.com/sites/quora/2016/05/05/12-uncommon-symptoms-of-depression-you-may-be-overlooking/#57edeeea2c4b. Accessed on January 10 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

นอนมากกว่าปกติ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า และอีกสารพัดโรคร้าย!

ปวดเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า เกี่ยวข้องกันมากกว่าที่คุณคิด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา