โรคซึมเศร้าต่างจากความเศร้าตามปกติยังไง
คนเราก็มักต้องพบเจอกับเรื่องเศร้าๆ ในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นจะมีอาการรุนแรง ที่ต่างจากความรู้สึกเศร้าตามปกติเยอะ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะมีอาการเศร้าอยู่นานหลายๆ สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
อาการที่พบได้บ่อยๆ ก็ได้แก่ ร้องไห้น้ำตาพรั่งพรู รู้สึกหมดหวังหรือไม่มีค่า ไม่อยากอาหาร มีปัญหาทางด้านการนอนหลับ สูญสิ้นพลัง ไม่มีความต้องการทางเพศ แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนและครอบครัว หรือแม้แต่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้า เป็น กรรมพันธุ์ หรือเปล่า
คุณอาจจะเห็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งการที่ต้องเฝ้าดูพวกเขาต้องทนทุกข์กับอาการซึมเศร้านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่การเห็นอาการแบบนั้นบ่อยๆ จะทำให้คุณมีอาการเดียวกับพวกเขาได้มั้ย?
มีการประเมินกันว่าผู้คนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์มักจะต้องประสบพบเจอกับอาการซึมเศร้าในชีวิตไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง ซึ่งอาการซึมเศร้าแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในหมู่ญาติพี่น้องและเด็กๆ คนที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคซึมเศร้าจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ได้ถึงห้าเท่า
ผลการศึกษาวิจัยยังแสดงให้เห็นด้วยว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยพันธุกรรมกับโรคซึมเศร้า พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้นั่นเอง
ยีนภาวะซึมเศร้า
ทีมนักวิจัยในประเทศอังกฤษได้ค้นพบยีนตัวหนึ่ง ที่ปรากฎอย่างแพร่หลายในสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า มีการพบโครโมโซม 3p25-26 ในครอบครัวมากกว่า 800 ครอบครัว ที่มีอาการของโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นบ่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ก็อาจมีส่วนทำให้เพิ่มขึ้นได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษาวิจัยยังแสดงให้เห็นด้วยว่า คนที่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากถึงสามเท่า ซึ่งนั่นเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อโรคนี้เป็นอย่างมาก
ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคนี้
คนที่เติมโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น เด็กที่เห็นพ่อแม่หรือญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้ อาจเลียนแบบพฤติกรรมของคนพวกนั้นภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เด็กที่เห็นพ่อแม่นอนอยู่บนเตียงได้เป็นวันๆ อาจมองว่าพฤติกรรมเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านเพศ ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสจะเป็นโรคซึมเศร้าที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มากถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ความเชื่อมโยงกับเซโรโทนิน
นักวิจัยยังเชื่อมโยงเซโรโทนินเข้ากับโรคซึมเศร้าด้วย เซโรโทนินคือสารเคมีที่ “ทำให้มีความสุข‘ ซึ่งจะช่วยทำการสื่อสารกับเซลล์ประสาทต่างๆ ในสมอง จึงมีความเป็นไปได้ว่าการมีเซโรโทนินที่ไม่สมดุล ก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางด้านอารมณ์ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคตื่นตะหนกอย่างรุนแรง
มีอยู่หลายทฤษฎีเลยนะ ที่เชื่อมโยงเซโรโทนินเข้ากับโรคซึมเศร้า นักวิจัยยังทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเซโรโทนิน ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรมอย่างมาก นอกจากนี้ก็มีการระบุด้วยว่า ตัวลำเลียงสารเซโรโทนินก็มีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าด้วย
โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้หรือไม่
ถ้าตัวคุณหรือคนที่คุณรักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณก็อาจสงสัยว่า โรคนี้จะรักษาให้หายได้หรือเปล่า โชคร้ายหน่อยนะ ที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนกับข้อสงสัยนี้ เนื่องจากตัวโรคซึมเศร้าเองก็มีความซับซ้อนมากพออยู่แล้ว การหาคำตอบทางด้านการรักษาจึงเป็นเรื่องยากเข้าไปกันใหญ่
คุณอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงจากสมาชิกในครอบครัว ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจมีอาการซึมเศร้าแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และต้องกินยาแค่ 12 เดือน ส่วนคืนอื่นๆ อาการซึมเศร้าอาจมีความอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นช่วงๆ ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องใช้วิธีบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เพื่อช่วยควบคุมอาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องรับรู้อาการต่างๆ ของตัวเอง และควรแจ้งให้คุณหมอทราบ ถ้าคุณคิดว่าวิธีที่ใช้อยู่นี้ไม่ได้ผล นอกจากนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณจะต้องรับรู้ถึงอาการต่างๆ ที่อาจจะกลับมาหลังจากที่ไม่มีอาการของโรคอยู่พักนึง