backup og meta

อยู่คนเดียว สร้างความสุขให้กับชีวิตได้อย่างไร

อยู่คนเดียว สร้างความสุขให้กับชีวิตได้อย่างไร

การอยู่คนเดียว มีข้อดีมากมายอาจส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากอาจช่วยเพิ่มสมาธิ ทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำมากขึ้น รวมถึงได้เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างอิสระ และอาจทำให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ควรรักษาไว้ การใช้ชีวิตคนเดียวบ้างจึงอาจช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิตมากขึ้น

อยู่คนเดียว คืออะไร

การอยู่คนเดียว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรู้สึกเหงาเสมอไป มีผลการศึกษาวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ระบุว่า การใช้เวลาคุณภาพ (Quality Time) ตามลำพังในระยะเวลาที่เหมาะสม จัดเป็นการมีสุขภาวะที่ดีเช่นกัน ซึ่งคำว่า สุขภาวะ (Well-Being) ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง ไม่ใช่เฉพาะความไม่พิการและไม่เป็นโรคเท่านั้น ยังหมายถึงสภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม

อีกทั้งนักวิจัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยิ่งทำกิจกรรมนั้น ๆ ตามลำพัง โดยปราศจากสิ่งรบกวน ความคิดเห็น หรืออิทธิพลจากบุคคลอื่น ก็ยิ่งจะดีต่อสุขภาพของมากขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม คนที่มีโลกส่วนตัวสูง ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียวตลอดเวลา แต่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือเข้าสังคมบ้าง

สิ่งสำคัญคือ การอยู่คนเดียวไม่ได้เท่ากับความเหงา เนื่องจากความเหงา หมายถึง การต้องอยู่โดดเดี่ยว หรือแยกตัวออกไปอยู่ลำพัง ทั้งที่ใจจริงอยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ส่วนการอยู่คนเดียว หมายถึง การใช้เวลาอยู่กับตัวเองตามลำพัง แต่ก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย ไม่ได้ตัดขาดจากสังคม

ข้อดีของการอยู่คนเดียว

งานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การตัดขาดจากสังคม หรืออยู่สันโดษนานเกินไปสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ แต่หากใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำพังบ้างเป็นครั้งคราว กลับส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อีกดด้วย ดังนี้

ช่วยให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ

การอยู่คนเดียว หรือใช้เวลาตามลำพังถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาตนเอง (Self-development) วิธีนี้จะช่วยให้ได้โฟกัสในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ หรือสิ่งที่ตัวเองสนใจ และได้รู้จักตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าคนรอบข้างจะคิดอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เวลาที่เราอยู่กับคนอื่น เรามักจะไม่ค่อยบอกว่าตัวเองต้องการอะไร และมีความคิดต่อเรื่องต่าง ๆ อย่างไร แต่กลับเลือกที่จะทำตามความต้องการของคนรอบข้างมากกว่า

ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

หลายคนเชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานหรือทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งก็คือ การระดมความคิด จริงอยู่ที่วิธีนี้ช่วยให้เราได้ข้อคิดเห็นที่เป็นความต้องการจากคนหมู่มาก แต่งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า คนเราจะแก้ปัญหายาก ๆ หรือมีไอเดียดีกว่าหากเราคิดหาวิธีแก้ปัญหาหรือทำงานคนเดียว

ช่วยพัฒนาความจำและเสริมสร้างสมาธิ

เวลาทำงานเป็นกลุ่ม เรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจดจำข้อมูลต่าง ๆ เพราะคิดว่ายังไงก็สามารถสอบถามจากคนอื่น ๆ ในกลุ่มได้ สิ่งนี้นี้เรียกว่า การออมแรงทางสังคม (Social Loafing) ซึ่งหมายถึง เหตุการณ์ที่เวลาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม แต่ละคนจะออกแรงน้อยกว่าเวลาทำงานเดี่ยว เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวก็มีคนมาทำงานแทน

แต่เมื่อต้องทำอะไรคนเดียว จะทำให้มีสมาธิ และโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่า ทั้งยังช่วยพัฒนาความจำได้ด้วย โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Psychological Bulletin ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันและต้องรวบรวมข้อมูลแต่ละส่วนจากสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม มักทำงาด้อยประสิทธิภาพกว่าคนที่ทำงานคนเดียว และจดจำข้อมูลต่าง ๆ เองตามลำพัง

ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า คนที่ใช้เวลาในการดูแลตัวเอง หรืออยู่กับตัวเองเป็นประจำ จะเห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งยังช่วยให้เข้าอกเข้าใจและใส่ใจผู้อื่นได้ดีกว่า จึงทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นพัฒนาได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมที่ควรลองทำคนเดียว

ไปดูหนังคนเดียว

การดูหนัง เป็นกิจกรรมที่ต้องการความเงียบ และไม่จำเป็นต้องคุยกับใครระหว่างทำกิจกรรมนี้ และการไปดูหนังคนเดียวยังทำให้มีสมาธิมากขึ้น สามารถจดจ่อและทำความเข้าใจเนื้อหาของหนังได้ดีขึ้นด้วย

กินข้าวนอกบ้านตามลำพัง

การกินข้าวลำพัง โดยเฉพาะการกินอาหารร้านโปรด กินอาหารในร้านหรู หรือลองกินอาหารแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยลองสักครั้ง อาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยพบเจอมาก่อน

ไปดูคอนเสิร์ต หรือการแสดงดนตรีคนเดียว

การไปดูคอนเสิร์ต หรือดูวงดนตรีวงโปรดแสดงสดคนเดียว อาจเป็นโอกาสดีที่ในการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ที่มีความชอบเหมือนกัน และถือเป็นการขยายวงสังคมต่อไปในอนาคตด้วย

ไปเดินเล่นในสวน หรือปีนเขาตามลำพัง

การไปเดินเล่นในสวน ไปเดินป่า เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ท้าทายร่างกายของตัวเอง แถมยังได้ใช้เวลาอยู่คนเดียวท่ามกลางความเงียบสงบ ซึ่งงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การใกล้ชิดธรรมชาติส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในหลายด้าน เช่น ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความสนใจ

เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ คนเดียว

การเข้าคลาสเรียนสิ่งที่สนใจคนเดียว เช่น การทำอาหาร การวาดรูป การเต้น จะช่วยให้มีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น

เป็นอาสาสมัคร

งานวิจัยเผยว่า พฤติกรรมเอื้อสังคม หรือพฤติกรรมเสริมสร้างสังคม (Prosocial behavior) เช่น การเป็นอาสาสมัคร ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการใช้ชีวิตในสังคม เช่น ช่วยคลายเครียด บรรเทาความโกรธ ลดอาการวิตกกังวล ช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคม

แม้การอยู่คนเดียว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำพังบ้างจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่คุณก็ต้องเตรียมความพร้อมก่อนทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้ดีด้วย เช่น หากคุณอยากไปเดินป่าคนเดียว ก็อาจต้องเตรียมสิ่งของจำเป็น และเบอร์ติดต่อฉุกเฉินให้พร้อม และทางที่ดีควรบอกคนรอบข้าง เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน ไว้ก่อนด้วยว่าคุณจะออกไปทำกิจกรรมอะไร เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ พวกเขาจะได้หาทางช่วยเหลือคุณได้อย่างทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Benefits of Being Alone. https://www.jedfoundation.org/set-to-go/the-benefits-of-being-alone/. Accessed September 29, 2021

Trait Empathy as a Predictor of Individual Differences in Perceived Loneliness. https://journals.sagepub.com/doi/10.2466/07.09.20.PR0.110.1.3-15. Accessed September 29, 2021

Loneliness and Social Isolation as Risk Factors for Mortality: A Meta-Analytic Review. https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/1745691614568352. Accessed September 29, 2021

Country roads, take me home… to my friends: How intelligence, population density, and friendship affect modern happiness. https://bpspsychub.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bjop.12181. Accessed September 29, 2021

Just think: The challenges of the disengaged mind. https://www.science.org/lookup/doi/10.1126/science.1250830. Accessed September 29, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: ทัตพร อิสสรโชติ


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีเพิ่ม ความฉลาดทางสังคม (SI) เพราะการใช้ชีวิตในสังคม แค่สติปัญญาคงไม่พอ

โรคกลัวสังคม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 30/09/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา