ภาวะหมดไฟ คือ ความอ่อนล้าทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดจากการทำงาน เนื่องจากความตึงเครียดและความกดดันจากงานที่ทำ จนถึงจุดที่ร่างกายหมดแรงหรือหมดพลัง รู้สึกว่างเปล่า และไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกด้านลบที่ถาโถมเข้ามาได้อีกต่อไป ผู้ที่มีภาวะหมดไฟอาจแก้ไขปัญหานี้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน ปรับแนวคิด หรือปรึกษานักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อช่วยให้ก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง
[embed-health-tool-bmi]
ภาวะหมดไฟ คืออะไร
ภาวะหมดไฟ หรือเบิร์นเอาต์ (Burnout) เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ส่งผลให้คุณภาพของงานแย่ลง ทำงานผิดพลาดบ่อย ผัดวันประกันพรุ่ง ใช้เวลานานกว่าปกติถึงจะทำงานเสร็จ เป็นต้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอาจแย่ลงเช่นกัน นอกจากนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงที่ทำงานแต่ก็ยังรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับงาน ผู้ที่มีภาวะหมดไฟอาจนอนไม่หลับ ไม่ค่อยอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังอาจรู้สึกโดดเดี่ยว มีความสงสัยในตัวเอง เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับงานมากจนเกินไป
สัญญาณของภาวะหมดไฟ
อาการในลักษณะต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่ากำลังอยู่ใน ภาวะหมดไฟ ได้แก่
- เหนื่อยล้า ไม่มีแรง อาการเหนื่อยล้าหรือมีพลังงานน้อย เป็นอาการหลักของภาวะหมดไฟ ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในทุก ๆ ด้าน อาจทำให้มีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ บางรายอาจรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา แม้จะใช้เวลานอนไปหลายชั่วโมง รู้สึกว่าตนเองพักผ่อนไม่เต็มอิ่ม นอกจากนั้น อาจรู้สึกว่าเรื่องทุกอย่างรุมเร้าเข้ามามากเกินไป ไม่สามารถหาทางออกได้ โดยเฉพาะเรื่องงาน
- การมีทัศนคติแง่ลบต่องาน ผู้ที่มีอาการหมดไฟอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังติดอยู่ในวังวนที่ไม่มีทางออกเกี่ยวกับงานที่ทำ มักจะเครียด หงุดหงิด ไม่พอใจหรือเบื่อหน่ายในงานของตัวเอง คิดเรื่องในแง่ลบเกี่ยวกับตัวงานและเพื่อนร่วมงาน รู้สึกเหินห่างกับผู้ร่วมงาน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของบริษัทหรือคนที่ทำงาน
- คุณภาพงานลดลง ภาวะหมดไฟอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือเมื่อกลับมาที่บ้าน การใส่ใจดูแลงานบ้าน สัมพันธภาพกับสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง เพราะมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องต่าง ๆ น้อยลง ขาดความคิดสร้างสรรค์ คิดว่าทำงานได้ไม่ดี เครียดหรือกดดันกับเรื่องงานจนไม่มีอารมณ์ที่จะสนใจเรื่องอื่น ๆ
ภาวะหมดไฟต่างจากภาวะซึมเศร้า อย่างไร
หลายคนอาจสับสนระหว่างภาวะหมดไฟกับภาวะซึมเศร้าว่าแตกต่างกันอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว ภาวะหมดไฟจะมีอาการที่เฉพาะเจาะจงและมีสาเหตุมาจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน ความเครียดและความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากสภาพแวดล้อมบางอย่างหรือสถานการณ์เฉพาะในการทำงานเท่านั้น ภาวะนี้อาจรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องรับการรักษาอย่างจริงจัง แต่อาจดูแลตนเองด้วยการหาเวลาส่วนตัวหรือลาพักร้อนสักระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้จมอยู่กับงานมากเกินไปจนสุขภาพจิตแย่ลง อย่างไรก็ตาม หากไม่มั่นใจ อาจพบบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะภาวะหมดไฟก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่นอกจากจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากทำอะไร ซึ่งคล้ายคลึงกับภาวะหมดไฟ แต่จะต่างกันที่ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ได้รู้สึกแย่กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับหลาย ๆ เรื่องหรือทุกเรื่อง อาจทำให้มีความนับถือตนเองต่ำ รู้สึกสิ้นหวังไม่มีทางออก รวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายอีกด้วย ผลกระทบของภาวะซึมเศร้าจึงถือว่าหนักกว่าภาวะหมดไฟ เพราะจะส่งผลต่อชีวิตในทุก ๆ ด้าน สำหรับปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเอาตัวเองออกจากการทำงาน แต่ควรไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ที่จะช่วยวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่ ภาวะหมดไฟ ในการทำงาน
วิธีจัดการกับภาวะหมดไฟ อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้ ได้แก่
- มองหาต้นตอของปัญหา แล้วแก้ไขในส่วนนั้น เช่น หากความรู้สึกหมดไฟเกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานบางคน อาจเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นมากขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานร่วมกัน เปิดใจรับฟังความเห็น พูดคุยปรับความเข้าใจเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสำเร็จลุล่วงโดยไม่มีปัญหาที่ค้างคาใจต่อกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอไม่น้อยกว่า 7-9 ชั่วโมงและพยายามไม่นอนดึกจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและตื่นตัว ไม่เหนื่อยล้าหรือง่วงซึมในระหว่างวัน
- ลาพักร้อนไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยไป และใช้เวลากับเรื่องอื่น ๆ แทนที่จะคิดเรื่องงาน อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
- ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียดและความคิดแง่ลบต่อเรื่องงาน เช่น วาดรูป เล่นกีฬา เล่นดนตรี
- ปรึกษาหรือระบายกับคนรอบข้างที่สนิท ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก อาจช่วยให้ความคับข้องใจลดลงได้เมื่อมีคนมารับฟัง
- พิจารณาการย้ายตำแหน่ง หรือลาออกไปทำงานในที่ใหม่ ๆ ซึ่งอาจช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้ เช่น ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับภาระงานและค่าใช้จ่าย งานไม่มี Work-life balance ที่เหมาะสม ทำงานจำเจไม่มีอะไรใหม่ ๆ