โรคซึมเศร้า (Depression) พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โรคนี้เกิดได้จากทั้งภาวะแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น รวมถึงปัญหาจากทางชีวภาพของร่างกาย เมื่อสมองส่วนอารมณ์ทำงานได้ไม่ปกติ ก่อเกิดเป็นอารมณ์ด้านลบ ทำให้ผู้ป่วยเกิดมุมมองต่อโลกในแง่ร้าย ส่งผลต่อสภาพจิตใจ กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน หากเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้เร็ว ผู้ป่วยจะสามารถดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นได้ หรืออาจใช้ยาเป็น วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ให้หายดี
[embed-health-tool-heart-rate]
สาเหตุสำคัญของโรคซีมเศร้า
ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่เพราะความอ่อนแอในจิตใจ โดยมีความเครียดทางสังคมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า สาเหตุสำคัญของโรคดังกล่าว มีดังนี้
- เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการเป็นซ้ำครั้ง
- เกิดจากสารเคมีในสมอง ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน สารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เซโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) สารนั้นลดต่ำลง และอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมี โดยเชื่อว่าเกิดความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเกิดจากความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง
- ลักษณะนิสัยของผู้ป่วย ในบางราย ผู้ป่วยมีแนวคิดหรือมุมมองต่อตัวเองในแง่ลบ ตำหนิความบกพร่องของตัวเองในอดีต หรือมองโลกในแง่ร้าย เมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างในชีวิต อาจมีแนวโน้มเกิดอาการซึมเศร้าได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
กลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้า ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง และโรคมะเร็ง
- แม่หลังคลอด
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ติดสุราและสารเสพติด
- ผู้ที่สูญเสียคนที่รักหรือสิ่งของที่รัก
อาการของโรคซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของสื่อประสาทในสมอง ส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ อาการของโรคจะเกิดได้ทุกวัน ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ตัวอย่างอาการของโรคซึมเศร้า เช่น
- รู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้าใจ ท้อแท้ เบื่อ
- ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้
- อารมณ์ด้านลบอยู่นาน เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง ความมั่นใจน้อยลง อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า
- ไม่อยากพูดหรือปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- เบื่ออาหาร รับประทานอาหารน้อยลง หรือตรงกันข้าม คือ กินจุมากขึ้น หิวบ่อยขึ้น
- มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท นอนหลับยาก หรือนอนหลับมากกว่าปกติ ฝันร้ายบ่อย
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ร่างกายไม่มีแรง
- ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง หลงลืมง่าย
- บางรายมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรืออาจเชื่องช้าลงได้เช่นกัน
หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ความรู้สึกด้านลบอาจรุนแรง ถึงขั้นมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า
หากมีอาการซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ โดยจิตแพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยการพูดคุย 10 ถึง 20 ครั้ง ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนมุมมองของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่
- การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แก้ไขปัญหาระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ที่อาจเป็นสาเหตุ และกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า
- การรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม ช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมในแง่ลบ
แต่หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าอาจใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น
- กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง)
- กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI
- กลุ่ม SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor)