backup og meta

จิตตก เพราะโซเชียลมีเดีย วิธีเหล่านี้ช่วยให้ดีขึ้นได้

จิตตก เพราะโซเชียลมีเดีย วิธีเหล่านี้ช่วยให้ดีขึ้นได้

จิตตก เป็นความรู้สึกแย่ หดหู่ กังวล เศร้า หลายครั้งอาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ปนเปกันจนเราไม่อาจรู้ได้ว่าตกลงเราเป็นอะไร รู้สึกอะไรอยู่กันแน่ ซึ่งก็อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเรารู้สึกจิตตกคือ การใช้โซเชียลมีเดีย หากสงสัย และอยากรู้ว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้เรา จิตตก ได้อย่างไร ตาม Hello คุณหมอไปดูกันเลยค่ะ

คุณมีอาการ จิตตก แบบนี้บ้างหรือเปล่า

  • รู้สึกแย่ และไม่พอใจในตัวเอง
  • รู้สึกเศร้าเพราะเรามันไร้ค่า
  • รู้สึกอิจฉาที่คนอื่นเขามีชีวิตดีกว่า
  • รู้สึกอยากร้องไห้ ทำอย่างไรชีวิตก็ไม่ดีขึ้น
  • รู้สึกกดดันเพราะเราไม่มีอะไรดีเลย

หากกำลังรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าคุณกำลังมีอาการจิตตกอยู่ อาการจิตตกคือความรู้สึกแย่ หดหู่ กังวล เศร้า เหงา หรืออะไรๆ ก็ ‘ไม่ดี’ ไปหมด สาเหตุที่ทำให้คนเราจิตตกเพราะเรารู้สึกไม่พอใจ หรือรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันรู้สึกจิตตกคือการใช้โซเชียลมีเดีย

จิตตก-โซเชียลมีเดีย

สาเหตุที่ทำให้จิตตก

ในปัจจุบันผู้คนใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียทั้งในโทรศัพท์มือถือและในคอมพิวเตอร์ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า คนไทยใช้เวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน โดยโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ Facebook รองลงมาคือ YouTube, Line, Instagram และ Twitter ตามลำดับ

ผลการสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจของดร.รามิน มอจทาไบ ที่ว่าวัยรุ่นเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดีย โดยวัยรุ่นชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 6% ในขณะที่วัยรุ่นหญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 17%

โซเชียลมีเดียทำให้จิตตก ซึมเศร้า เครียด เพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนต่างมาแชร์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องราวที่ดีและไม่ดี เรื่องราวที่ไม่ดีอย่างเช่น คดีอาชญากรรม ความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือเรื่องราวดราม่าต่างๆ แน่นอนว่าเรื่องไม่ดีพวกนี้ย่อมทำให้เกิดอาการจิตตกได้ง่าย บางคนจึงใช้วิธีหลีกเลี่ยงข่าวร้ายในโซเชียลมีเดียเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการจิตตก แต่ไม่ใช่แค่เรื่องร้ายเท่านั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เรื่องราวดีๆ ที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย บางครั้งก็ทำให้คนเกิดอาการจิตตกได้เหมือนกัน

โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนแชร์ด้านดีของตนเอง เนื่องจากพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการยอมรับ การแชร์สิ่งดีๆ หรือการอวดสิ่งที่ตนเองภูมิใจจะทำให้บุคคลรู้สึกดี มีความสุข รวมถึงรู้สึกประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ หลายคนมีชีวิตดีขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในตัวเอง ทำให้เกิดอาการจิตตกได้ในที่สุด

การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ โดยเกี่ยวข้องกับความรู้สึกปลอดภัยและความกลัว มนุษย์ในยุคหินนั้นคนที่อ่อนแอ ไร้ความสามารถ จะถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม กลไกการทำงานของสมองจึงต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเพื่อให้ตนเองพัฒนาขึ้น จะได้อยู่รอดในกลุ่มและมีชีวิตที่ปลอดภัย ซึ่งสมองของมนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากสมองของมนุษย์ยุคหิน ดังนั้นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนรับรู้ข่าวสาร รับรู้เรื่องราวผ่านทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จึงอาจเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นหลายคน จนเกิดอาการจิตตกเมื่อพบว่าตัวเองไม่มีดีเท่าคนอื่น

ทำอย่างไรไม่ให้ จิตตก

1. เปรียบเทียบตัวเองกับ ‘ตัวเองเมื่อวาน’

หนังสือ 12 Rules for Life ของจอร์เดน ปีเตอร์สัน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎการใช้ชีวิต 12 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ เปรียบเทียบตัวเองกับเมื่อวาน อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนั้นไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น อยากรวยแบบคนอื่น แต่เมื่อไปถึงจุดที่เราคิดว่ารวยแล้วก็จะมีคนที่รวยกว่า หรือเราอยากเก่งขึ้น เมื่อถึงวันที่เราพัฒนาไปถึงจุดที่เราคิดว่าเก่งแล้ว ก็จะพบว่ามีคนที่เก่งกว่าอีก ดังนั้นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ควรทำคือการเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในเมื่อวาน หากวันนี้เราทำดีขึ้นกว่าเมื่อวาน หรือเราเก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน นั่นถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว การเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในอดีตนอกจากจะทำให้เราพัฒนาขึ้นยังทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นด้วย เพราะไม่ว่าคนในโซเชียลมีเดียจะมีชีวิตที่ดีจนน่าอิจฉาขนาดไหนก็แทบจะไม่มีผลกระทบอะไรกับเราเลย

2. ระวังคำพูดที่พูดกับตัวเอง

คำพูดสะท้อนความคิด การพูดนั้นมีทั้งการพูดแบบเปล่งเสียงออกมาและการพูดในใจ สิ่งที่ต้องระวังคือคำพูดที่เราใช้กับตัวเอง หลายครั้งที่การเล่นโซเชียลมีเดียทำให้เราไม่พอใจในตัวเอง บางคนอาจรู้สึกว่าเราอ้วนเกินไป เราดูแย่ เราไม่เก่งเหมือนคนอื่น จนทำให้เผลอก่นด่าตัวเองในใจว่า อ้วน ขาใหญ่ ทำไมห่วยขนาดนี้ แย่ และอีกมากมาย หากใครที่กำลังจิตตกจนด่าตัวเองอยู่ควรต้องหยุด ตั้งสติ ให้คิดเสียใหม่ว่า ‘ถ้าเราไม่คิดจะใช้คำพูดแย่ๆ แบบนี้กับเพื่อนคนไหน เราก็ต้องไม่พูดกับตัวเองแบบนี้เหมือนกัน’ คำพูดแย่ๆ คำด่าที่แม้แต่ตัวเราเองยังไม่กล้าว่าคนอื่น ก็ต้องไม่กล่าวคำเหล่านั้นกับตัวเอง เพียงมีสติและระวังคำพูดที่ใช้กับตัวเอง แค่นี้ก็ทำให้เราไม่จิตตกไปกับความไม่พอใจในตัวเองแล้ว

3. ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

“ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ’ ประโยคนี้เป็นเรื่องจริงเสมอ ทุกคนต่างก็มีเรื่องดีๆ และเรื่องแย่ๆ ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าสังคมในโซเชียลมีเดียผู้คนต่างมีชีวิตที่ดี เช่น สุขภาพดี มีเงิน มีเวลา แต่ว่าในโลกแห่งความจริงนั้นไม่ว่าใครก็มีเรื่องไม่สบายเป็นของตัวเอง ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่กัน ดังนั้นเวลาที่รู้สึกจิตตกเนื่องจากรู้สึกไม่พอใจในตัวเอง รู้สึกอิจฉาคนอื่นที่เขามีชีวิตที่ดีมากๆ ก็ให้คิดไว้เสมอว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น แต่เขาเลือกที่จะนำเสนอแต่เรื่องดีๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้นเอง

วิธีแก้อาการจิตตกที่ได้แนะนำไปนั้น นอกจากจะช่วยให้เล่นโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับด้านอื่นๆ ในชีวิตเพื่อจะได้ไม่จิตตก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและทำให้มีความสุขกับชีวิตในทุกวัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Psychological Stress and Social Media Use.  http://www.pewinternet.org/2015/01/15/psychological-stress-and-social-media-use-2/. Accessed June 1, 2018.

Troubling Trend: Depression Rates Rising in Teens. https://www.webmd.com/depression/news/20161219/depression-rates-rising-teens#1. Accessed June 1, 2018.

Social networks: a new source of psychological stress or a way to enhance self-esteem? Negative and positive implications in bronchial asthma. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23101183

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/07/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือยัง โซเชียลมีเดีย มีส่วนช่วยทำให้คุณลดความอ้วนได้สำเร็จ

จิตหมกมุ่น จมกับ ความเสียใจ รับมืออย่างไรไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา