Toxic relationship คือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ย่อมบั่นทอนทั้งร่างกายและความรู้สึกของคนทั้งคู่ ส่วนใหญ่แล้วคู่รักมักจะขาดความเข้าใจ ไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน และอาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าอีกคน ส่งผลให้บทบาทของคน 2 คนในความสัมพันธ์ไม่เท่ากัน และมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ ทำให้ไม่มีความรู้สึกปลอดภัยหรือมั่นคงต่อความสัมพันธ์ หากตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ควรหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด
[embed-health-tool-bmr]
Toxic relationship คืออะไร
ความสัมพันธ์แบบท็อกซิก หรือ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีความสุขอย่างต่อเนื่องเมื่อใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนรัก เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายอาจไม่สนใจความรู้สึก ความคิดเห็น และขอบเขตของกันและกัน แม้บางครั้งอาจมีการเลิกรากัน แต่ในหลายกรณีคู่รักก็ไม่สามารถตัดขาดกันได้อย่างจริงจัง จนเกิดภาวะรัก ๆ เลิก ๆ ไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีใครมีความสุขอย่างแท้จริง
ความสัมพันธ์แบบ Toxic ถือเป็นขั้วตรงข้ามของ Healthy relationship ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีการสนับสนุนกันและกันในทางที่ดี คู่รักที่มีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงจะสามารถประนีประนอมและให้อภัยกันได้ แม้จะคิดเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง มีความพยายามในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พยายามพูดคุยสื่อสารกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องที่สบายใจและปลอดภัย และเป็นรากฐานของการมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมั่นคง
สัญญาณของ Toxic relationship
ตัวอย่างพฤติกรรมและการแสดงออกที่เป็นสัญญาณของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ มีดังนี้
-
ขาดความไว้วางใจ
ลักษณะที่พบได้บ่อยในความสัมพันธ์แบบ Toxic คือการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งต่อกันในทุก ๆ วัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจพยายามที่จะทดสอบความซื่อสัตย์หรือหวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะแอบไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบอยู่เป็นประจำ หรือมีการกล่าวหา จับผิดหรือพูดประชดประชัน โทรศัพท์มาหาบ่อย ๆ แวะมาดูว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไรหรือติดตามความเคลื่อนไหว ทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกัน และอาจทำให้ความสัมพันธ์สั่นคลอนในที่สุด
-
มีปัญหาเรื่องความผูกพันทางอารมณ์
โดยทั่วไป ความรู้สึกยึดติดกับคนรักในระดับที่พอดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยประคองความสัมพันธ์ให้ดำเนินไปด้วยดีได้ เพราะจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการและเป็นที่รัก แต่หากในความสัมพันธ์มีคนที่วิตกกังวลและคิดอยู่เสมอว่าอีกฝ่ายจะทอดทิ้งตัวเองอยู่เป็นประจำ หรือไม่วางใจว่าความสัมพันธ์จะไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าอีกฝ่ายจะอธิบายหรือกระทำสิ่งใดเพื่อยืนยันความรู้สึกของตัวเองแล้วก็ตาม หากเกิดความกลัวว่าจะถูกทอดทิ้งบ่อยครั้งหรือไม่รู้สึกมั่นใจในตัวคนรักก็ยากที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวได้
-
มีปัญหาในการสื่อสาร
ความสัมพันธ์ที่มีปัญหา คู่รักมักขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถแสดงความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริงของกันและกันได้ จนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนซึ่งกระทบต่อความสัมพันธ์ นอกจากนี้ เมื่อมีเรื่องที่เป็นปัญหาบางคนอาจเลือกที่จะเก็บไว้เอาคนเดียวและไม่นำมาพูดคุยให้เข้าใจกันในทันที แต่เก็บความไม่พอใจเอาไว้ ในขณะที่อีกคนอาจไม่ทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ซึ่งอาจนำไปสู่การทะเลาะกันจนเกิดความขุ่นข้องหมองใจและลุกลามใหญ่โตจนยากเกินที่จะแก้ไขในที่สุด
-
มีพฤติกรรมที่ชอบควบคุม
ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบ Toxic อาจมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เป็นผู้ควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่คำนึงถึงขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างกัน ผู้ควบคุมอาจเป็นผู้ที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน สังคม การแต่งตัวโดยไม่ใส่ใจความคิดเห็นหรือความสะดวกใจของอีกฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายโดยคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกต้อง อีกฝ่ายตัดสินใจไม่ดีพอ เป็นต้น หรรืออาจไปจำกัดอิสระในการใช้ชีวิต เช่น ไม่ให้อีกฝ่ายทำงาน ไปยังสถานที่ต่าง ๆ หรือพูดคุยกับคนที่ตัวเองไม่อนุญาต ตำหนิการแต่งกายหรือความชอบของฝ่ายโดยไม่มีเหตุผล
-
ปั่นหัวให้รู้สึกผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำ
ในบางคู่ อาจมีฝ่ายที่ชอบใช้คำพูดให้อีกฝ่ายสับสนหรือสงสัยในการใช้เหตุผล ความทรงจำ การตัดสินใจ หรือกระทำของตัวเอง พูดให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจเหนือกว่าเป็นการควบคุมความคิดและการกระทำของอีกฝ่าย แต่ใช้เป็นคำพูดในเชิงโทษว่าอีกฝ่ายทำผิด และตัวเองเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายทางจิตใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
วิธีแก้ไข Toxic Relationship
เมื่อรู้สึกว่าตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ควรรีบหาทางแก้ไขด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแรง เพื่อความรู้สึกที่ดีต่อกัน ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต โดยอาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- มีความจริงใจอยู่เสมอ คู่รักควรมีความจริงใจต่อกันและช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายสามารถเปิดอกพูดคุยกันได้ในเรื่องต่าง ๆ ยอมรับฟังทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น ความรู้สึก ความกังวล เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัยระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการมีความลับต่อกันด้วย
- ยอมรับกันและกัน หากต้องการให้ความสัมพันธ์แข็งแรง ควรเรียนรู้ที่จะยอมรับในตัวตนของกันและกัน เพราะทุกคนล้วนมีข้อดีและข้อเสียเฉพาะตัว ความคิดเห็นหรือมุมมองในเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างหรือเหมือนกันไม่มากก็น้อย หากทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากันได้ ก็จะช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
- ดูแลและใส่ใจกันในเรื่องเล็กน้อย คู่รักควรเอาใจใส่กันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ และไม่ควรละเลยความรู้สึกของอีกฝ่าย พูดคุยรักษาน้ำใจกันและกัน ขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือ ให้เกียรติกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถามไถ่ความรู้สึก เอ่ยปากให้ความช่วยเหลือ ขอโทษเมื่อทำผิด ปลอบโยนให้กำลังใจเมื่ออีกฝ่ายมีปัญหาส่วนตัว การใส่ใจดูแลความรู้สึกของกันและกันจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคู่รักมีความมั่นคงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
- ให้พื้นที่และเวลาส่วนตัวกับคู่ของตัวเอง การเคารพพื้นที่ส่วนตัวของคนรัก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดข้อตกลงถึงขอบเขตที่เหมาะสม ปล่อยให้แต่ละคนได้มีเวลาส่วนตัวในการทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตัวเองต้องการบ้าง ใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ อาจช่วยลดปัญหาเรื่องความผูกพันทางอารมณ์ที่มากเกินไปเมื่อต้องอยู่ห่างกัน และช่วยให้สบายใจต่อกันมากขึ้น คู่รักควรระลึกอยู่เสมอว่าแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักกันน้อยลง