backup og meta

ภาวะวิตก กังวล ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ชายอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/10/2022

    ภาวะวิตก กังวล ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ชายอย่างไร

    ภาวะวิตก กังวล เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ คิดมากหรือหวาดกลัว ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความกดดันในที่ทำงาน หรือความคาดหวังต่ออนาคตซึ่งสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าและความเครียด ทั้งนี้ ผู้ชายอาจมีภาวะวิตกกังวลเช่นเดียวกับผู้หญิง แต่อาจไม่แสดงออกมา อย่างไรก็ตาม ภาวะวิตกกังวลอาจป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการพูดคุยกับคนใกล้ตัวสม่ำเสมอ เพื่อระบายความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ในใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย และรู้สึกว่ามีคนรับฟังช่วยแบ่งเบาความทุกข์ใจต่าง ๆ

    ภาวะวิตก กังวล มีอาการอย่างไร

    ภาวะวิตกกังวล หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายใจ คิดมาก หรือหวาดกลัว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว ความกดดันหรือการแข่งขันสูงในที่ทำงาน หรือความคาดหวังต่ออนาคตหรือการจัดการการเงินของตัวเอง ซึ่งผู้ชายเองอาจตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลเช่นเดียวกับผู้หญิงหรืออาจมากกว่า แต่อาจไม่แสดงออก

    ทั้งนี้ เมื่อมีภาวะวิตกกังวล ผู้ชายมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกมากกว่าปกติ
  • ตาลาย วิงเวียน
  • หายใจลำบาก
  • นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย
  • คิดมาก กระวนกระวาย
  • ไม่มีสมาธิ ใจลอย
  • หงุดหงิด
  • เบื่ออาหาร
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับภาวะวิตกกังวลในผู้ชาย เผยแพร่ในวารสาร Journal of Affective Disorders ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยได้ศึกษาผลการศึกษาจำนวน 25 ชิ้น และพบข้อสรุปว่า เมื่อผู้ชายมีภาวะวิตกกังวล มักเลือกที่จะไม่แสดงออกถึงอารมณ์ที่อ่อนไหวของตนเอง

    นอกจากนั้น ผู้ชายที่เชื่อว่าคุณค่าความเป็นชายอยู่ที่ความเข้มแข็ง ต้องยืนหยัดและดูแลตัวเองได้ อาจคิดว่า การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อมีภาวะวิตกกังวลนั้นไม่เหมาะสมและเป็นเรื่องที่น่าอับอาย จึงมักเลือกที่จะไม่พูดถึงสุขภาพจิตของตัวเองหรือหลีกเลี่ยงการไปพบจิตแพทย์เมื่อมีภาวะวิตกกังวล

    ทั้งนี้ การมีภาวะวิตกกังวลเป็นครั้งคราวนับเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่หากมีภาวะวิตกกังวลบ่อย ๆ หรือเป็นทุกวันจนรบกวนการใช้ชีวิต อาจหมายถึงกำลังเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางรักษา

    ภาวะวิตก กังวล สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าในผู้ชายอย่างไร

    โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการลดลงของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง

    เมื่อเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ชายจะแสดงออกต่างจากผู้หญิง กล่าวคือแทนที่จะดูสิ้นหวัง หมดแรง หรือไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่ชอบ ผู้ชายอาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ขี้โมโห ดูไม่เป็นมิตร และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกัน ผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจแสดงออกว่าตนเองมีความสุข ร่าเริง ยิ้มง่าย เข้าสังคมเก่ง ซึ่งอาจเป็นการปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองก็ได้

    ทั้งนี้ เกือบครึ่งของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นเผชิญกับภาวะวิตกกังวลในระดับรุนแรง ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลมักมีความกระวนกระวายใจ หวาดกลัว และรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมความรู้สึกต่าง ๆ ได้ซึ่งมักนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย เรียกได้ว่า โรคทั้งสองชนิดนี้มีความสัมพันธ์กัน เมื่อเป็นโรคใดโรคหนึ่ง มักเสี่ยงสูงที่จะเป็นอีกโรคด้วย

    โดยทั่วไป ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิตกกังวลหรือเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าผู้หญิง แต่เนื่องจากผู้ชายไม่ค่อยพูดถึงหรือขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง โอกาสในการรักษาภาวะวิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าให้หายเป็นปกติจึงยากกว่า

    ภาวะวิตก กังวล สัมพันธ์กับความเครียดอย่างไร

    ความเครียด เป็นการตอบสนองทางอารมณ์หรือร่างกายต่อเหตุการณ์สำคัญหรือสถานการณ์น่ากังวลต่าง ๆ

    เมื่อมีความเครียด อาการจะคล้ายกับภาวะวิตกกังวล คือวิงเวียน คลื่นไส้ ท้องเสีย นอนไม่หลับ เหงื่อออกมากกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว อยู่ไม่สุข และเบื่ออาหาร

    นอกจากนั้น ความเครียดยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของภาวะวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า รวมถึงเป็นสาเหตุพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด รับประทานอาหารมากเกินไป สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความเครียด อาจป้องกันได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด เพราะอาจเป็นสาเหตุของภาวะวิตกกังวล หรือทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น
    • ทำงานอดิเรก หรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เล่นโยคะ หรือทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย
    • เรียนรู้ที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต
    • คอยติดต่อเพื่อนหรือคนในครอบครัวสม่ำเสมอ
    • พูดคุย ปรึกษา หรือระบายความรู้สึกให้คนที่ไว้ใจรับฟังเพื่อแบ่งเบาความกังวลใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา