โรคมะเร็ง ที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยพบมะเร็งตับมากที่สุดและเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทยมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งปอด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลุกลามจนอยู่ในระยะที่รักษายากหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเมื่ออายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป
[embed-health-tool-bmi]
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย
โรคมะเร็ง เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเติบโตเป็นเซลล์มะเร็ง และกลายเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่มักลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ผ่านทางเลือด หรือน้ำเหลือง ทั้งนี้ มะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่
- มะเร็งตับ พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้ชายไทย เกิดจากเซลล์ตับเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้ายงอกในตับ มักมีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือไขมันพอกตับ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งตับจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ แม้ไม่มีอาการ โดยส่วนใหญ่ อาการได้แก่ ปวดท้อง จุกเสียดบริเวณชายโครงข้างขวาหรือช่องท้องด้านบน น้ำหนักตัวลด ขาบวม ตาและตัวเหลือง มักตรวจพบเมื่อเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลามซึ่งยากต่อการรักษา
- มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทยมากที่สุดเป็นอันดับสองรองลงมาจากมะเร็งตับ มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการสูบบุหรี่ โดยทั่วไป มะเร็งปอดจะพบเมื่อผู้ชายมีอายุประมาณ 55-74 ปี อาการของโรคคือ ไอต่อเนื่อง ไอเป็นเลือด หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก เสียแหบ และน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งที่พบได้บริเวณลำไส้ใหญ่และลำไส้ส่วนปลายที่อยู่ใกล้กับทวารหนัก ในผู้ชาย มะเร็งชนิดนี้พบได้ในอัตรา 4.3 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของโรคคือ พันธุกรรม โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่มีใยอาหารต่ำ ทั้งนี้ อาการของโรค ได้แก่ ท้องร่วง ท้องผูก อ่อนเพลีย แน่นท้อง และมีเลือดปนในอุจจาระ
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นมะเร็งที่มักพบในผู้ชายอายุระหว่าง 50-70 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีผลให้เซลล์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายจนสร้างความเสียหายให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน และปวดท้องน้อยหรือขัดแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นการเติบโตของเซลล์มะเร็งบริเวณต่อมลูกหมาก ส่งผลให้ท่อปัสสาวะอุดตัน ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะไม่สุด และมีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ อย่างไรก็ตาม สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักเกิดกับผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดในบรรดามะเร็งผิวหนังทั้งหมด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลจากการที่ผิวหนังโดนทำร้ายจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่อยู่ในแสงแดด รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างพันธุกรรมหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาคือ พบจุดสีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะคล้ายไฝหรือขี้แมลงวันจำนวนมากขึ้นตามร่างกายแต่รูปร่างมักไม่สมมาตร ขอบไม่ชัดเจน มีขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร พร้อมอาการคันหรือมีเลือดออก อย่างไรก็ตาม มะเร็งชนิดนี้อาจรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
เมื่อไรผู้ชายควรไปตรวจ โรคมะเร็ง
ผู้ที่ควรไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจหา โรคมะเร็ง ที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้
มะเร็งตับ
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- เคยป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบี
- มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
- เป็นโรคเบาหวาน และโรคตับแข็ง
- ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นประจำมายาวนาน
- สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
- สมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
มะเร็งปอด
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- สูบบุหรี่จัด หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ
- เคยเลิกบุหรี่ภายในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
- ทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น โรงโม่ปูน โรงแร่ใยหิน
มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
- เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
- ไม่ชอบออกกำลังกาย
- ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ชอบรับประทานผักหรือผลไม้
- มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้หรือมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ
- สูบบุหรี่จัดหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- เคยเป็นโรคนี้มาก่อน
- มีกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติแต่กำเนิด
- ทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับสีหรือสารเคมีเช่น โรงงานย้อมผ้า
- สูบบุหรี่จัดหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
มะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- อายุ 40-45 ปี แต่พ่อหรือพี่ชายมีประวัติเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนอายุ 65 ปี
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
- ใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งและโดนแสงแดดโดยตรงเป็นประจำ
- เคยมีอาการผิวไหม้จากแสงแดดอย่างรุนแรง
- เคยเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยวิธีรังสีบำบัด