หลายคนอาจเชื่อว่า ผู้หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในช่วงประจำเดือน แต่ความจริงแล้ว ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ในช่วงที่ มีประจำเดือน Hello คุณหมอ จึงนำเรื่องราวที่น่าสนใจประเด็นนี้ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ประจำเดือนคืออะไร
ทุก ๆ เดือน ผนังมดลูกจะหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว หากไข่ไม่ได้รับการผสม หรือไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้ เนื้อเยื่อผนังมดลูกจะถูกปล่อยออกมาจากร่างกาย ผ่านทางช่องคลอด ในรูปแบบของเลือดประจำเดือน กระบวนการนี้เรียกว่า การมีประจำเดือนหรือรอบเดือน
การมีประจำเดือนเป็นกระบวนการของร่างกายทั่วไปที่เกิดขึ้นทุกเดือนสำหรับผู้หญิงทุกคน เมื่อร่างกายเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะเข้าสู่ภาวะการเจริญพันธุ์
สามารถตั้งครรภ์ในช่วง มีประจำเดือน ได้หรือไม่
คนจำนวนมากคิดว่า หากผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างมีประจำเดือนแล้ว จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ข้อเท็จจริงคือ ผู้หญิงยังคงตั้งครรภ์ได้อยู่ในขณะที่มีประจำเดือน โดยสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุบางประการ ดังนี้
1. เลือดที่ไหลออกทางช่องคลอด ไม่ใช่เลือดออกจากการมีประจำเดือนเสมอไป
ในบางครั้งเด็กสาวยังมีภาวะเลือดออกได้ เมื่อมีการตกไข่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีภาวะการเจริญพันธุ์มากที่สุด ผู้หญิงที่มีการตกไข่ อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่า เป็นเลือดออกจากการมีประจำเดือนได้
2. การตกไข่อาจเกิดขึ้นก่อนหรือ 2-3 วันหลังสิ้นสุดการมีประจำเดือนก็ได้
การตกไข่ของผู้หญิงแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละรอบของการมีประจำเดือน จึงบอกแน่ชัดไม่ได้ว่าช่วงเวลาไหนคือช่วงที่มีภาวะการเจริญพันธุ์มากที่สุด เนื่องจากอสุจิสามารถอยู่ในร่างกายผู้หญิงได้ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 5 วัน และสามารถผสมกับไข่ได้ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน
การหลั่งอสุจิภายในช่องคลอด แม้จะเป็นในช่วงที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนอยู่ ก็เสี่ยงตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงนี้จะต่ำกว่าช่วงที่ฝ่ายหญิงไม่มีประจำเดือน
นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ไม่ว่าในช่วงเวลาใด ๆ ก็ตาม ย่อมทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์ ทั้งยังเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หูดที่อวัยวะเพศ เอชไอวี ด้วย
วิธีการเดียวในการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็คือ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
หากคุณพยายามตั้งครรภ์มาเกินหนึ่งปีแล้วแต่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์สักที แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ แพทย์จะได้แนะนำวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ เช่น วิธีการติดตามการตกไข่ รวมถึงการตรวจรักษาที่จะช่วยให้คุณมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
[embed-health-tool-ovulation]