backup og meta

การใช้สมุนไพร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 09/07/2020

    การใช้สมุนไพร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

    ทุกวันนี้คนหันมาสนใจ การใช้สมุนไพร ในการบำบัดโรคกันมากขึ้น แต่การใช้สมุนไพรอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรในปริมาณที่เกินขนาด หรือใช้ไม่ถูกกับโรค มักจะมีอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงตามมา แล้วคุณจะใช้สมุนไพรอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

    สมุนไพรคืออะไร?

    ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ให้คำจำกัดความคำว่า “สมุนไพร” ไว้ว่าเป็น “ยาที่ได้มาจากพืช สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน’ เช่นเดียวกับใน พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 คำจำกัดความของ “ยาสมุนไพร’ ก็ได้แก่ “ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ’

    ดังนั้น สมุนไพรที่คนเรานำมาใช้งาน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่พืชพรรณ แต่หมายรวมถึงส่วนประกอบหลายอย่างจากธรรมชาติ โดยสมุนไพรที่เป็นพืชพรรณานั้น จะได้มาจากส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ ส่วนสมุนไพรจากสัตว์ ก็มาจากอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันปลา และท้ายก็คือสมุนไพรที่ได้จากแร่ธรรมชาติ หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ เช่น เกลือ กำมะถัน น้ำประสานทอง ดีเกลือ สารส้ม เป็นต้น

    ถึงแม้สมุนไพรทั้งหลายตามคำจำกัดความนี้ จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ หากข้อสำคัญก็คือ เราต้องตระหนักด้วยว่า สิ่งที่มาจากธรรมชาตินั้น ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยหรือดีต่อร่างกายเสมอไป หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสม สมุนไพรก็สามารถเป็นอันตรายได้เช่นกัน

    สมุนไพรใช้เพื่ออะไร

    การใช้สมุนไพรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ อย่างเช่นการแพทย์แผนจีน อายุรเวทของประเทศอินเดีย หรือการแพทย์แผนโบราณของไทย และถึงแม้ในปัจจุบัน การแพทย์แผนปัจจุบันจะเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางโดยทั่วไป ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อถือ และนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณที่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเหล่านี้อยู่ รวมทั้งที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ การนำสมุนไพรมาใช้ในรูปของ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร’ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “อาหารเสริม’ ซึ่งตามคำจำกัดความขององค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย ได้แก่ อาหารที่กินเพื่อเสริมอาหารที่มีอยู่แล้ว เพื่อเสริมสร้างกลไกการทำงานของร่างกายและช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อย่างเช่น วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพร

    ทั้งการใช้สมุนไพรเพื่อเป็นยา และเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องของความปลอดภัย ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก็คือ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ ก็ใช่ว่าจะรับรองได้ถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการนำมาแปรรูป ซึ่งอาจมีการผสมสิ่งเติมแต่งที่ไม่จะไม่ใช่สารออกฤทธิ์เข้าไป แต่ก็สามารถส่งผลต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น

    เช่นเดียวกับการนำมาใช้เป็นยารักษาโรค หากนำมาใช้ผิดไปจากตำรับยาที่มีการศึกษากันมาแล้ว ก็อาจทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ รวมไปถึงอาจเกิดอันตรายได้ เนื่องจากสมุนไพรต่างๆ อาจออกฤทธิ์ส่งเสริม หรือหักล้างกันก็ได้ การจะใช้สมุนไพรในฐานะของยา จึงควรต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือแพทย์แผนไทยที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งหากจะใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคเรื้อรังร่วมกับยากแผนปัจจุบัน ก็ควรต้องปรึกษากับหมอทุกครั้ง เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

    การใช้สมุนไพร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

    นี่คือหลักการง่ายๆ โดยทั่วไป ที่ควรคำนึงถึงในการนำสมุนไพรมาใช้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

    ใช้ให้ถูกชนิด

    สมุนไพรในโลกนี้มีเป็นจำนวนมาก ชื่อและหน้าตาของสมุนไพรภายนอกก็อาจจะมีความคล้ายคลึงกัน ทางที่ดีเราควรตรวจสอบชื่อและลักษณะภายนอกของสมุนไพรอย่างถี่ถ้วน ว่าใช่สมุนไพรที่เราต้องการจะใช้หรือเปล่า

    ใช้ให้ถูกส่วน

    สมุนไพร มีหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมมากก็คือ พืชสมุนไพร ซึ่งจะมีส่วนประกอบมากมาย ตั้งแต่ ราก เปลือกไม้ เนื้อไม้ ใบ ดอก ผล หรือแม้แต่เมล็ดก็สามารถนำมาใช้รักษาได้ ซึ่งใช้ได้แทบจะทุกส่วนของต้นเลย ในแต่ละส่วนก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป หรือบางส่วนก็เป็นพิษ ดั้งนั้นก่อนที่จะนำมาใช้ เราก็ควรจะต้องรู้สรรพคุณในแต่ส่วนอย่างแน่ชัดก่อน

    ใช้ให้ถูกขนาด

    ปัจจุบันการรักษาด้วยสมุนไพรเป็นที่นิยมมากในคนไทย เมื่อมีสมุนไพรบางชนิดที่กำลังเป็นกระแสในโซเชี่ยล เราก็จะตื่นตัวในการใช้สมุนไพรชนิดนั้นมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งบางครั้งมีการเป็นจำนวนมากด้วยความเชื่อที่ว่า หากได้กินเป็นจำนวนมากๆ จะขับเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่ ทำลายเชื้อโรคในร่างกายได้เยอะ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการกินในประมาณที่มาก หรือน้อยไปไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย เราควรในกินในปริมาณที่พอเหมาะ ตามคำแนะนำของแพทย์ หากรับประทานไม่ถูกขนาดเราก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ หรืออาจจะทำให้ได้โทษมาแทน

    ใช้ให้ถูกวิธี

    สมุนไพรที่นำมารักษาแต่ละชนิดก็จะมีวิธีใช้ที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดต้องกินแบบสด บางชนิดต้องต้มเพื่อดื่มน้ำ บางชนิดต้องใช้ผสมกับอย่างอื่น เช่น ผสมกับเหล้า ผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อให้ได้ประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนั้นอย่างสูงที่สุด แต่หากเรากินผิดวิธีก็จะไม่สามารถดึงส่วนที่เป็นประโยชน์ออกมาใช้ได้ การรักษาก็จะไม่เกิดผลลัพธ์อะไรเลย

    ใช้ให้ถูกโรค

    สมุนไพรแต่ละชนิดก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่เป็นสมุนไพรชนิดเดียวกันแต่ความสุก แก่ที่ต่างกันก็จะใช้รักษาโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น กล้วยน้ำว้า หากเป็นกล้วยน้ำว้าดิบเมื่อนำไปตากแดดแล้วบดเป็นผงชงกับน้ำดื่มสามารถรักษาโรคกระเพาะได้ กล้วยน้ำว้าห่ามช่วยรักษาอาการท้องเสียเพื่อชดเชยโพแทสเซียมที่ร่างกายเสียไป ส่วนกล้วยน้ำว้าสุกมีกากใยอาหารเป็นจำนวนมากช่วยแก้อาการท้องผูก เห็นได้ว่าการใช้สมุนไพรมีรายละเอียดที่มากมายก่อนที่เราจะใช้ก็ควรจะศึกษาก่อนที่จะใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    ข้อควรระวัง

    • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์แผนไทยเสมอ หากต้องการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค เพื่อที่จะได้ข้อมูลการใช้อย่างถูกต้อง
    • ศึกษาสรรพคุณและโทษของสมุนไพรชนิดที่เราต้องใช้อย่างถี่ถ้วน สมุนไพรมีทั้งคุณและโทษในตัวเดียวกัน หากเรารู้จักพิษของสมุนไพรด้วย ก็จะทำให้เรามีความระมัดระวังในการใช้มากขึ้น
    • ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดเดียวกันติดต่อเป็นเวลานานๆ สมุนไพรมีฤทธิ์ที่เป็นทั้งการรักษาและความเป็นพิษ การใช้เป็นระยะเวลานานอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อตับและไตได้
    • ใช้สมุนไพรจากแหล่งผลิตที่สะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน
    • หากยังไม่เคยใช้สมุนไพรชนิดนี้มาก่อน ควรใช้ในปริมาณที่น้อย เพื่อดูปฎิกิริยาที่มีผลต่อร่างกาย หากไม่มีผลข้างเคียง ค่อยกินในปริมาณปกติ
    • คนที่มีร่างกายอ่อนเพลีย เด็กอ่อน คนชรา ไม่ควรใช้ เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ อาจจะทำให้ยาเกิดพิษได้ง่าย ควรตรวจสอบกับแพทย์ก่อนเสมอ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 09/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา