ทุกคนได้สังเกตอาการของปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อแม่ ของเรากันบ้างหรือเปล่า ว่าทำไมถึงมีอาการเดินเซไป เซมา ขณะที่เคลื่อนไหวหรือลุกนั่งแบบเฉียบพลัน แถมยังมีอาการวิงเวียนศีรษะจนถึงขั้นหมดสติ ในบางครั้งอาจเกิดจากเป็นอาการที่เกิดจาก โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด บทความนี้ Hello คุณหมอมีคำตอบมาคลายความสงสัยให้ทุกคนได้ทราบกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด มาจากอะไรกัน…
โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign paroxysmal positional vertigo) เรียกสั้นๆ ได้ว่า (BPPV) คือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหินปูนในหูชั้นใน มีลักษณะคล้ายก้นหอยซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยภายในหูของคุณจะมีผลึกเล็กๆ ของแคลเซียม คาร์บอเนต (calcium carbonate) ที่ยึดเกาะกับเส้นประสาทสามารถรับรู้ทางการเคลื่อนไหวหรือการทรงตัว โดยหินปูนจะเคลื่อนที่ตามกิริยาท่าทางในรูปแบบครึ่งวงกลม ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังเอียงศีรษะไปทางขวา หินปูชิ้นนี้ก็จะเอียงตามไปทางขวา หากเอียงศีรษะไปทางซ้าย หินปูชิ้นนี้ก็จะเอียงตามไปทางซ้ายเช่นกัน
สาเหตุที่อาจทำให้หินปูนนั้นหลุดออกมา สามารถเกิดได้จากการหมุนศีรษะที่รวดเร็วเกินไป หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่กระทบกับหูโดยตรง ส่งผลให้การทรงตัวนั้นผิดปกติ เอนเอียง รู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนกับโลกกำลังหมุนรอบตัวคุณ โรค BPPV นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่จะถูกค้นพบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ลองเช็กอาการเบื้องต้นว่าคุณกำลังเป็น โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด อยู่หรือไม่ ?
โรคหินปูนในหูชั้นในหลุดค่อนข้างที่จะไม่เป็นอันตรายมากนักขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมากน้อยแค่ไหน สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อคุณกำลังมีอาการเหล่านี้
- ขณะที่คุณลุกขั้นยืนจากการนอน มีภาวะเสียความสมดุลรู้สึกบ้านเอนเอียง
- ปัญหาทางด้านการมองเห็นผิดปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนหัว มีไข้
- ภาวะทางอารมณ์แทรกซ้อน หรืออารมณ์แปรปรวน
- รู้สึกถึงแขน ขา อ่อนแรง
- การได้ยินผิดเพี้ยน
- เป็นลมหมดสติ
การรักษาและการป้องกันเพื่อความปลอดภัย
สามารถเริ่มได้ด้วยการบริหารศีรษะ ด้วยการเปลี่ยนท่านอนหรือยืนเป็นท่านั่งหลังตรง ค่อยๆ หมุนศีรษะไปทางขวาประมาณ 45 องศา และหันกลับมาที่เดิม จากนั้นหมุนไปทางด้านซ้าย และหันกลับมาที่เดิม หงายศีรษะขึ้น ก้มศีรษะลงแบบช้าๆ แต่ละท่านั้นควรค้างไว้ 30 วินาทีก่อนจะสลับเปลี่ยน จากการศึกษาที่น่าเชื่อถือในปี 2019 ซึ่งนักวิจัยได้นำอาสาสมัคร 359 คน ที่เป็นโรค BPPV โดยทำการพิสูจน์เป็นเวลา 1 เดือน ผลการทดลองสรุปพบว่าการบริหารนี้มีแนวโน้มของผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นอัตรา 75–100% เลยทีเดียว
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันไม่ให้หมุนศีรษะรวดเร็วเฉียบพลันหรือค้างในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น การตั้งศีรษะเวลานอนให้ตรงระวังไม่ให้นอนคอตกในขณะที่คุณเผลอนั่งหลับ การก้มหัวหรือหงายหัวสระผมค้างเป็นเวลานาน
หากมีภาวะที่ค่อนข้างรุนแรงควรเข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่การผ่าตัดนั้นสามารถมีอาการแทรกซ้อนเล็กน้อยจนถึงขั้นมีความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยิน ในบางกรณีทางแพทย์อาจจำหน่ายยาเบตาฮีสทีน (Betahistine) เป็นตัวช่วยในการรักษาโรค BPPV จากการวิจัยในปี 2017 อาสาสมัคร 305 คนที่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ระยะเวลาการทดลองทั้งหมด 2 เดือน ผู้ที่ได้รับเบตาฮิสทีน 48 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าผู้เข้าร่วมตอบสนองต่อการรักษาได้เป็นอย่างดี อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน นั้นลดลง ถึง 94.4%
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด