backup og meta

พฤติกรรมทำร้ายฟัน ที่คุณควรเลี่ยงโดยด่วน หากไม่อยากให้ฟันมีปัญหา

พฤติกรรมทำร้ายฟัน ที่คุณควรเลี่ยงโดยด่วน หากไม่อยากให้ฟันมีปัญหา

คุณรู้ไหมว่า การดูแลสุขภาพฟันนั้น แค่รักษาความสะอาด แปรงฟันวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง ตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนเป็นประจำทุกปีอาจยังไม่พอ เพราะพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่คุณทำในแต่ละวัน ก็สามารถส่งผลต่อฟันของคุณได้เช่นกัน พฤติกรรมบางอย่างก็เป็นสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยง หากไม่อยากทำให้ฟันมีปัญหา ว่าแต่ พฤติกรรมทำร้ายฟัน จะมีอะไรกันบ้าง Hello คุณหมอ มีบทความน่าสนใจมาฝากกัน เราไปดูกันเลย

พฤติกรรมทำร้ายฟัน ที่ควรเลี่ยงโดยด่วน

เคี้ยวน้ำแข็ง

น้ำแข็งเย็นเจี๊ยบกินแล้วสดชื่น ใคร ๆ ก็ชอบ บางคนกินน้ำใส่น้ำแข็งไม่พอ ยังชอบเคี้ยวน้ำแข็งด้วย ซึ่งคุณรู้ไหมว่า พฤติกรรมนี้เป็นหนึ่งในพฤติกรรมทำร้ายฟันที่คุณอาจเผลอทำเป็นประจำ รู้ตัวอีกที คุณอาจฟันหักหรือฟันแตกเพราะเคี้ยวน้ำแข็งไปแล้วก็ได้ หรือหากไม่ถึงขั้นฟันแตก ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เนื้อเยื่อในฟันระคายเคืองจนทำให้ปวดฟันได้

เจาะลิ้น

การเจาะลิ้นก็เป็นพฤติกรรมทำร้ายฟันอีกหนึ่งอย่างที่คุณอาจนึกไม่ถึง เพราะหากคุณเผลอกัดเครื่องประดับโลหะ หรือที่มักเรียกกันว่า “จิว” เข้า ก็อาจทำให้ฟันของคุณแตก หักได้ง่าย ๆ เลย แถมเวลาที่เครื่องประดับโลหะเสียดสีกับเหงือกบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เหงือกถูกทำลาย จนนำไปสู่การสูญเสียฟันถาวรได้ด้วย นอกจากนี้ การเจาะลิ้นยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และหากเจาะพลาดโดนเส้นเลือดใหญ่ ก็อาจส่งผลให้เลือดออกรุนแรงได้ด้วย

กัดฟัน

หลายคนนอนกัดฟัน หรือไม่ก็ชอบกัดฟันเวลาที่โกรธ เครียด หรือตื่นเต้น แต่คุณรู้ไหมว่า หากคุณกัดฟันบ่อย ๆ สามารถทำให้ฟันของคุณสึกกร่อนได้ การกัดฟันเป็นพฤติกรรมที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่ระหว่างนั้น คุณก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาฟันจากการกัดฟันได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการกินของแข็ง ๆ และใส่ฟันยาง หรือเมาท์การ์ด (Mouth Guard) เวลานอน

ชอบดื่มน้ำอัดลม

หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่า น้ำตาลเป็นอีกหนึ่งตัวการทำลายสุขภาพปากและฟัน และในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ก็มีน้ำตาลถึง 11 ช้อนโต๊ะ ทั้งยังมีกรดฟอสฟอริกและกรดซิตริกที่ทำลายเคลือบฟัน หากคุณดื่มน้ำอัดลมบ่อย ๆ แล้วไม่ได้แปรงฟันทันทีหลังดื่มเสร็จ ก็ย่อมส่งผลเสียต่อฟันของคุณแน่นอน

ชอบเปิดบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยใช้ฟันกัด

ใครที่คิดว่าฟันตัวเองแข็งแรง และเอาความสะดวกเข้าว่า ชอบใช้ฟันกัดซองพลาสติก หรือเปิดฝาขวด แทนที่จะใช้กรรไกรตัด หรือใช้ที่เปิดขวดตามปกติ เราแนะนำให้เลิกด่วน เพราะพฤติกรรมนี้สามารถทำให้ฟันของคุณหักหรือบิ่นได้ง่าย ๆ เลย จงจำไว้ว่า ฟันของคุณมีไว้ใช้กัด บด ขบ และเคี้ยวอาหารเท่านั้น ไม่ได้เอาไว้เปิดขวดหรือเปิดซองพลาสติก

กินไม่หยุด

คนที่เป็นโรคกินไม่หยุด มักจะชอบกินของหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ ยิ่งหากคุณเป็นโรคกินไม่หยุด ร่วมกับโรคบูลิเมีย เนอร์โวซา (Bulimia nervosa) หรือที่มักเรียกกันว่า “โรคล้วงคอ” คือกินอาหารเข้าไปแล้วพยายามล้วงคอให้ตัวเองอาเจียนออกมา ก็จะยิ่งแย่เข้าไปอีก เพราะกรดที่ออกมาเมื่อคุณอาเจียนนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนฟัน ทำให้ฟันของคุณอ่อนแอและแตกหักได้ง่ายขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดกลิ่นปากอีกด้วย

โรคการกินผิดปกติเหล่านี้หากปล่อยไว้ สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าได้ ฉะนั้น หากคุณสังเกตได้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมของโรคดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

19 Habits That Wreck Your Teeth. https://www.webmd.com/oral-health/ss/slideshow-teeth-wreckers. Accessed July 17, 2020

Common Dental Health Troublemakers. https://www.everydayhealth.com/dental-health-pictures/bad-habits-that-can-harm-your-teeth.aspx. Accessed July 17, 2020

Protect Your Teeth: 19 Bad Dental Habits to Avoid. https://www.medicinenet.com/protect_your_teeth_19_bad_dental_habits_to_avoid/article.htm. Accessed July 17, 2020

Everyday Habits That Damage Your Teeth. https://www.webmd.com/oral-health/features/your-teeth-bad-habits#1. Accessed July 17, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/08/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

คราบพลัค สาเหตุและวิธีป้องกัน

อาหารบำรุงฟัน เช็กสิ! กินอะไร เลี่ยงอะไร ฟันถึงจะแข็งแรง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา