backup og meta

ฟันปลอมมีกี่แบบ และควรทำความสะอาดอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/09/2021

    ฟันปลอมมีกี่แบบ และควรทำความสะอาดอย่างไร

    ฟันปลอม คือ หนึ่งในการรักษาสุขภาพช่องปากที่สามารถถอดได้ โดยมีทั้งฟันปลอมที่ทำจากอะคริลิค ไนลอน และโลหะ ให้พอดีเหงือก เพื่อช่วยทดแทนฟันที่หายไป เพิ่มคุณภาพด้านการรับประทานอาหาร และการพูดสื่อสาร แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้ฟันปลอม อาจต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า ฟันปลอมมีกี่แบบ แต่ละแบบใช้งานอย่างไร และจะดูแลทำความสะอาดฟันปลอมได้อย่างไร โดยอาจปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทำการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

    ฟันปลอมมีกี่แบบ อะไรบ้าง

    ฟันปลอมที่เป็นที่นิยม มี 3 แบบ คือ

    1. ฟันปลอมแบบบางส่วน

    ฟันปลอมแบบบางส่วนอาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีฟันหลุดเป็นบางซี่ แต่ยังคงมีฟันซี่อื่น ๆ ที่แข็งแรงอยู่ โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากวัดขนาดของฟัน แล้วทำฟันปลอมให้พอดีที่สุด เพื่อเติมเต็มฟันที่หายไป ฟันปลอมแบบบางส่วนอาจทำจากพลาสติก ไนลอน แผ่นโลหะ และอาจมีตะขอยึดกับฟันซี่ข้าง ๆ เพื่อไม่เคลื่อนที่ แต่ยังสามารถถอดออกนำมาทำความสะอาดได้ง่าย

  • ฟันปลอมครบชุด

  • ฟันปลอมครบชุด หรือฟันปลอมทั้งปาก เป็นฟันปลอมที่ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น อะคริลิค ไนลอน เรซิน โลหะเหมาะสำหรับผู้ที่ฟันแท้ในปากทั้งหมดหลุดออกไปแล้ว โดยสามารถนำฟันปลอมแบบครบชุดมาใช้งานทดแทนฟันแท้ได้เลย แต่ในช่วงแรกของการใส่ฟันปลอมรูปแบบนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเล็กน้อย เพราะฟันปลอมจะยึดเข้ากับเหงือกเพื่อให้ติดแน่น ป้องกันการหลุดร่วงระหว่างวัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพักเพื่อทำความความคุ้นเคยในการใช้

    1. ฟันปลอมแบบฝังรากเทียม

    ฟันปลอมแบบฝังรากฟันเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีฟันหลุดเป็นบางซี่ โดยการฝังรากเทียมที่ทำจากไททาเนียม และฟันปลอมที่ทำจากเซรามิก ยึดเข้ากับกระดูกขากรรไกรและเหงือก ทำให้สามารถใช้งานได้เหมือนฟันแท้ แต่วิธีการนี้อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าฟันปลอมรูปแบบอื่น

    ข้อควรระวังในการใส่ฟันปลอม

    การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อเป็นปากนกกระจอก ซึ่งอาจส่งผลให้มุมปากแตกเป็นแผล และอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ระคายเคืองต่อเหงือก มีปัญหาในการรับประทานอาหาร และการพูดสื่อสารไม่ชัด

    วิธีป้องกันฟันปลอมเคลื่อน

    การป้องกันไม่ให้ฟันปลอมเคลื่อนระหว่างวัน หรือขณะรับประทานอาหาร มีวิธีดังต่อไปนี้

    • ตรวจสอบฟันปลอม ว่ามีขนาดเหมาะสมพอดีกับช่องปาก และติดแน่นดีหรือไม่ หากรู้สึกว่าฟันปลอมเคลื่อน แน่น หรือหลวมเกินไป ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที เพื่อปรับแก้ไข
    • รับประทานอาหารอ่อน ๆ ในระยะแรก และปรับนิสัยการรับประทานอาหารเพื่อสร้างความคุ้นชิน เช่น เคี้ยวอาหารช้า ๆ หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่เหนียว
    • พูดช้า ๆ ในระยะแรกการใส่ฟันปลอมอาจเป็นเรื่องที่ยาก และไม่คุ้นชินในการพูดสื่อสาร จึงควรพูดช้า ๆ รวมถึงควรระวังในขณะยิ้มและหัวเราะ เนื่องจากอาจทำให้ฟันปลอมเคลื่อนได้
    • ใช้กาวติดฟันปลอม การใช้กาวสำหรับติดฟันปลอมโดยเฉพาะ เป็นการช่วยให้ฟันปลอมติดแน่นมากขึ้น และลดความกังวลว่าฟันปลอมจะเคลื่อน หรือหลุดระหว่างวัน แต่การใช้กาวติดฟันปลอมไม่สามารถใช้ซ่อมแซมฟันปลอมที่พัง หรือเสียหายได้ อาจต้องเข้าซ่อมแซมจากคุณหมอโดยตรง

    การทำความสะอาดฟันปลอม

    ถึงแม้ว่าฟันปลอมจะไม่ใช่ฟันแท้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็ควรรักษาความสะอาด เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เช่น เศษอาหาร แบคทีเรีย ด้วยวิธีเหล่านี้

    • ถอดฟันปลอม และใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดฟันปลอม โดยไม่ต้องใช้ยาสีฟัน เพราะยาสีฟันมีฤทธิ์กัดกร่อน อาจทำให้มีรอยขีดข่วน ส่งผลให้คราบจุลินทรีย์เข้าไปสะสมได้
    • ควรเลือกขนแปรงสีฟันที่มีความนุ่ม หรือใช้แปรงสำหรับทำความสะอาดฟันปลอมโดยตรง เพื่อป้องกันความเสียหายของผิว และรูปทรงของฟันปลอม
    • ไม่ควรใส่ฟันปลอมก่อนนอน ควรแช่ฟันปลอมค้างคืนทุกวันในน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมโดยเฉพาะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา