การนอนกัดฟัน (Bruxism) มักเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือความกังวล และโดยปกติจะไม่ถือเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่สำหรับบางคน นอนกัดฟัน อาจทำให้มีอาการปวดบริเวณใบหน้าและปวดหัว นอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุใด ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากอย่างไรบ้าง และเมื่อไหร่ที่ต้องไปพบคุณหมอ
นอนกัดฟัน คืออะไร
นอนกัดฟัน (Teeth grinding or Bruxism) มักจะเกิดขึ้นขณะหลับ หรือขณะที่กำลังใช้ความคิด รวมถึงช่วงที่กำลังเครียด โดยผู้ที่นอนกัดฟันมักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังกัดฟันอยู่ และโดยปกติแล้วไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเกิดขึ้นทุกวัน เป็นเวลานาน อาจทำให้ฟันเสียหายได้ และจะมีปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆ ตามมา
เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุของอาการนอนกัดฟันยังไม่ชัดเจน แต่มักจะเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด ความกังวล และปัญหาการนอนหลับ
ความเครียดและความกังวล
นอนกัดฟันมักจะเกิดจากความเครียดหรือความกังวล และหลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเครียดอยู่ ซึ่งอาการนอนกัดฟันจะเกิดขึ้นในช่วงที่นอนหลับ
ยาบางชนิด
นอนกัดฟันอาจเป็นผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressants) โดยเฉพาะยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)
การนอนหลับผิดปกติ
ถ้าคุณนอนกรน หรือมีการนอนหลับที่ผิดปกติ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea) ก็มีแนวโน้มที่จะนอนกัดฟันขณะหลับ เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น อาจรบกวนการหายใจในช่วงขณะหลับ นอกจากนี้คุณมีแนวโน้มที่จะนอนกัดฟัน ในกรณีดังนี้
- พูด หรือพึมพำขณะหลับ
- แสดงพฤติกรรมรุนแรงขณะหลัง เช่น เตะหรือต่อย
- มีอาการ Sleep paralysis หรือที่เรียกว่าอาการผีอำ คือไม่สามารถขยับร่างกายหรือพูดได้ชั่วคราว
การใช้ชีวิต
ปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้นอนกัดฟันและอาจทำให้อาการแย่ลง ได้แก่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
- การใช้สารเสพติด
- การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชาหรือกาแฟ มากกว่า 6 แก้วต่อวัน
ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากอย่างไรบ้าง
เนื่องจากการนอนกัดฟันเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่าพวกเขานอนกัดฟัน อย่างไรก็ตาม การนอนกัดฟันในตอนกลางคืนอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และทำให้คุณมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหัว
- ปวดหู
- เจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร (ข้อต่อชั่วคราว) และกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (Temporomandibular disorder, TMD)
- รบกวนการนอนหลับ
- ฟันสึกกร่อน หรือฟันหัก
อาการเจ็บปวดบริเวณใบหน้า และอาการปวดหัวมักจะหายไป เมื่อคุณหยุดนอนกัดฟัน แต่หากมีปัญหาสุขภาพช่องปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์
เมื่อไหร่ที่ต้องกังวล
บางกรณีการนอนกัดฟันเรื้อรัง สามารถทำให้ฟันแตกหัก หรือฟันหลุดได้ นอกจากนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องฟัน แต่การนอนกัดฟันอาจส่งผลต่อขากรรไกร หรือจนถึงขั้นปรับเปลี่ยนรูปหน้า จึงควรปรึกษาแพทย์หากการนอนกัดฟัน เริ่มทำให้คุณมีปัญหาสุขภาพช่องปาก
การรักษา
ทันตแพทย์สามารถช่วยรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากได้ แต่ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากความเครียด ควรปรึกษาแพทย์ และวิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันการนอนกัดฟันในเวลากลางคืน
- บรรเทาความเครียด การออกกำลังกาย การนวด และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาจช่วยบรรเทาความเครียดได้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม หรือกาแฟ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะนอนกัดฟันมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์
- ฝึกตัวเองไม่ให้กัดฟัน ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองกัดฟันในช่วงระหว่างวัน ให้ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร ด้วยการวางตำแหน่งปลายลิ้นให้อยู่ระหว่างฟัน เพื่อป้องกันการกัดฟัน
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร ในตอนกลางคืน ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณแก้ม
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]