ร้อนใน หมายถึงแผลเปิดภายในปากที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาว มีอาการเจ็บแสบ และอาจสร้างความระคายเคือง มักเกิดขึ้นที่บริเวณเนื้อเยื่อภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้น โดยปกติแผลร้อนในจะไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ และสามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่การใช้ยาแก้ปวด หรือยาป้ายแผลร้อนใน อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการร้อนใน และเร่งให้แผลร้อนในหายไวขึ้นได้
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
ร้อนใน คืออะไร
ร้อนใน หมายถึงแผลเปิดสีขาวเล็ก ๆ ภายในปาก ที่มักเกิดขึ้นบริเวณกระพุ้งแก้ม โคนเหงือก บนลิ้น หรือใต้ลิ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ ระคายเคือง และอาจส่งผลกระทบต่อการพูดหรือการรับประทานอาหารได้ ร้อนในเป็นอาการที่พบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นและผู้ที่มีอายุในช่วง 20 ปีต้น ๆ
ร้อนในแตกต่างจากเริมที่ริมฝีปาก เนื่องจากแผลร้อนในจะเกิดขึ้นภายในช่องปาก ส่วนเริมที่ริมฝีปากมักจะมีอาการที่บริเวณริมฝีปากและมุมปากภายนอก อีกทั้งเริมที่ริมฝีปากยังสามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ แตกต่างจากร้อนในที่ไม่แพร่กระจายสู่ผู้อื่น
อาการ
อาการของร้อนใน
ร้อนในมักปรากฏขึ้นในบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนภายในปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม โคนเหงือก ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการ ดังนี้
- ตุ่มเล็ก ๆ สีแดงหรือสีขาว ที่พัฒนากลายเป็นแผลเปิดเป็นวงกลมหรือวงรีเล็ก ๆ
- อาการเจ็บและแสบบริเวณแผล
สำหรับร้อนในที่อาการรุนแรง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- เป็นไข้
- เหนื่อยล้า
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
ควรพบคุณหมอเมื่อใด
โดยทั่วไปอาการร้อนในมักจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที
- มีอาการรร้อนในนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- แผลร้อนในมีขนาดใหญ่มากผิดปกติ
- แผลร้อนในมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
- แผลเริ่มลุกลามไปส่วนอื่น ๆ
- มีไข้สูง
- มีอาการร้อนในบ่อยมากผิดปกติ
สาเหตุ
สาเหตุของร้อนใน
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดร้อนใน แต่ปัจจัยบางอย่างอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดร้อนในได้ ดังนี้
- การบาดเจ็บภายในปาก เช่น การกัดลิ้น การกัดกระพุ้งแก้ม แผลจากเหล็กจัดฟัน อาจกลายเป็นแผลร้อนในได้
- ความเครียด
- การแปรงฟันรุนแรงมากเกินไป
- การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำมะนาว อาจทำให้เนื้อเยื่อภายในปากระคายเคือง และกลายเป็นแผลร้อนใน
- การขาดสารอาหารประเภทวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี และโฟเลต
- อาการแพ้อาหาร หรือสารที่อยู่ในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก
- เชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปากได้เช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน
- โรคบางอย่าง เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเอดส์ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแผลร้อนในได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของอาการร้อนใน
ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดร้อนในได้
- อายุ วัยรุ่นและผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มักมีโอกาสเป็นร้อนในได้มากกว่าช่วงอื่น
- ความเครียดสะสม
- การจัดฟัน
นอกจากนี้ อาการร้อนในยังอาจเกิดขึ้นได้บ่อยในบางครอบครัว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดในครอบครัว หรือเป็นผลจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน เช่น อาหารที่รับประทาน สารก่อภูมิแพ้บางชนิด
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยร้อนใน
คุณหมอสามารถวินิจฉัยร้อนในได้จากการตรวจดูอาการ โดยไม่ต้องทำการทดสอบใด ๆ เพิ่มเติม สำหรับแผลร้อนในตามปกติที่มีอาการไม่เกิน 2 สัปดาห์ ไม่มีอาการปวดที่รุนแรง และไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ร่วมด้วย อาจไม่จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยแผลร้อนใน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการร้อนในเป็นประจำหรือมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการร้อนในเพิ่มเติม
การรักษาร้อนใน
ร้อนในสามารถหายไปได้เองภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดจากแผลร้อนในได้ นอกจากนี้ การบ้วนปากด้วยคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) หรือการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) แบบทาเฉพาะที่ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการร้อนใน และช่วยเร่งให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นได้
การรักษาแผลร้อนในด้วยตัวเอง
วิธีการดูแลรักษาแผลร้อนในที่สามารถทำได้เองเหล่านี้ อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นได้
- บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือหรือเบกกิ้งโซดา
- ใช้สำลีจุ่มยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) หรือที่เรียกอีกอย่างว่ายามิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of magnesia) แล้วป้ายในบริเวณแผลร้อนใน
- ใช้ยาป้ายร้อนใน ที่มีทั้งแบบเจล แบบครีม และแบบยาน้ำ ป้ายบริเวณแผลร้อนใน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับร้อนใน
วิธีดูแลตัวเองเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการร้อนในได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงอ่อนนุ่ม ไม่แข็งเกินไป และไม่ควรแปรงฟันรุนแรงเกินไป
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากระคายเคืองได้ เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารรสเปรี้ยว อาหารรสเค็ม รวมถึงอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้