เชื้อราในปาก เป็นการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ในบริเวณเยื่อบุปาก โดยสังเกตได้จากรอยสีขาวบริเวณลิ้น และกระพุ้งแก้มหากไม่ทำการรักษาอาจลุกลามไปยังเพดานปาก เหงือก และต่อมทอนซิล
คำจำกัดความ
เชื้อราในปาก คืออะไร
เชื้อราในปาก คือ การติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่มักเกิดในทารก ผู้สูงอายุ และผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จนอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องปากได้ง่าย และอาจมีอาการในระดับรุนแรงหากติดเชื้อ
อาการ
อาการของเชื้อราในปาก
อาการของเชื้อราในปาก ที่สามารถสังเกตได้ทั้งในช่วงวัยเด็กและผู้ใหญ่ มีดังนี้
- รอยสีขาวบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม บางครั้งอาจพบเจอบนเพดานปาก เหงือก และต่อมทอนซิล
- เป็นแผลนูนเล็ก
- มุมปากแตก เป็นแผล และอาจอักเสบได้
- อาจมีเลือดออก หากบริเวณที่ติดเชื้อราเชื้อราถูกเสียดสี
- รู้สึกเจ็บแสบ หรือปวดแผลในช่องปากอย่างรุนแรง จนอาจทำให้รับประทานอาหารลำบาก
- สูญเสียการรับรู้รสชาติอาหาร
สาเหตุ
สาเหตุของเชื้อราในปาก
สาเหตุของการเกิดเชื้อราในช่องปากที่พบมากที่สุดคือ ระบบภูมิคุ้มกันการทำงานอ่อนแอลง โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะคอยทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่หากการป้องกันเหล่านี้มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อการต้านเชื้อรา ก็อาจส่งผลให้จำนวนของเชื้อราเพิ่มขึ้น จนเกิดการติดเชื้อในช่องปากได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของเชื้อราในปาก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ติดเชื้อราในปากได้ง่าย มีดังนี้
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งมักเกิดขึ้นในทารกที่ระบบภูมิคุ้มกันยังอาจพัฒนาไม่เต็มที่ และผู้สูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลง
- โรคเบาหวาน หากควบคุมอาการของโรคเบาหวานไม่ดี อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อราแคนดิดาได้
- การติดเชื้อราในช่องคลอด เป็นการติดเชื้อราคาดิดาชนิดเดียวกันกับเชื้อราในช่องปาก จึงอาจก่อให้เกิดการลุกลามติดเชื้อในช่องปากร่วม อีกทั้งการติดเชื้อราในช่องคลอด ยังส่งผลเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ได้
- ภาวะทุพโภชนาการ การรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้ง่าย
- ยา เนื่องจากยาบางชนิดอาจรบกวนความสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องปาก เช่น โคลไตรมาโซล ไมโคนาโซล นิสแททิน ฟลูโคนาโซล
- การใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะฟันปลอมที่ไม่ได้ทำความสะอาด หรือไม่ได้ถอดก่อนเข้านอน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเชื้อราในปาก
การวินิจฉัยเชื้อราในช่องปาก คุณหมอหรือทันตแพทย์อาจตรวจปากเบื้องต้น และขูดเก็บตัวอย่างรอยสีขาวของเชื้อรา เพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในกรณีที่รุนแรงคุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดเชื้อราในช่องปากเพิ่มเติม
การรักษาเชื้อราในปาก
เป้าหมายของการรักษาเชื้อราในช่องปากคือการหยุดแพร่กระจายของเชื้อรา และป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อราซ้ำ ด้วยการให้ยาต้านเชื้อราที่ใช้ภายในช่องปาก ได้แก่ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) นิสแททิน (Nystatin) สำหรับการติดเชื้อที่รุนแรงคุณหมออาจกำหนดยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อราในปาก
เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อราในช่องปาก ควรรักษาสุขภาพอนามัยภายในช่องปาก ดังต่อไปนี้
- รักษาสุขอนามัยที่ดีด้วยการ แปรงฟันให้ถูกวิธี ขจัดเศษอาหารด้วยไหมขัดฟัน เปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นประจำ และไม่ควรใช้แปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
- ทำความสะอาดฟันปลอม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ และไม่ควรใส่ฟันปลอมก่อนนอน
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ โดยนำเกลือปริมาณ ½ ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่น 1 ถ้วย แล้วกลั้วปากให้ทั่วและบ้วนทิ้ง ไม่ควรกลืนลงไป
- งดสูบบุหรี่
- เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ
[embed-health-tool-bmi]