backup og meta

ตรวจตา มีวิธีการอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2021

    ตรวจตา มีวิธีการอย่างไร

    ตรวจตา คือ การทดสอบสายตาเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในดวงตา เช่น ประสิทธิภาพในการมองเห็น ต้อกระจก ต้อหิน และ การทดสอบมีหลายรูปแบบโดยจักษุแพทย์อาจเลือกใช้มากกว่าหนึ่งวิธี เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ประโยชน์ของการตรวจตา

    การเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอาจทำให้ทราบถึงปัญหาสายตา หรือโรคตาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเหล่ ตาพร่า ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม การตรวจตาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีอาจทำให้คุณหมอช่วยรักษาภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการที่รุนแรง หรือเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น

    ควรตรวจตาเมื่อใด

    การตรวจตา สามารถทำได้ทุกวัยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการปกติ อาจขอรับการตรวจตาตามเกณฑ์อายุ ดังต่อไปนี้

    • ทารกแรกเกิด เป็นช่วงวัยแรกที่ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อที่ตา
    • ทารก 6 เดือน ควรตรวจสุขภาพตาโดยรวม และพัฒนาการในด้านการมองเห็น
    • เด็กอายุไม่เกิน 3 ปี เด็กในช่วงวัยนี้อาจเสี่ยงเผชิญกับปัญหาตาขี้เกียจ ตาขวาง ตาเหล่ จึงควรพาเด็ก ๆ เข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ
    • เด็กอายุ 3-5 ปี ขึ้นไป อาจเข้ารับการตรวจตาเพื่อทดสอบด้านการมองเห็น และตำแหน่งของดวงตาเป็นประจำทุกปี
    • ช่วงอายุ 2039 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาทุก ๆ 5-10 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ใช้สายตามากในชีวิตประจำวัน หรือมีปัญหาทางสายตา ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี
    • ช่วงอายุ 40-54 ปี ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 2-4 ปี
    • ช่วงอายุ 55-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 1-3 ปี
    • ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 1-2 ปี

    ทั้งนี้ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี เพราะโรคที่เป็นอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เส้นเลือดจอประสาทตาอุดตัน และอาจนำไปสู่การมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป

    วิธีตรวจตาประเภทต่าง ๆ

    การตรวจตาประเภทต่าง ๆ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา มีดังนี้

    • การทดสอบกล้ามเนื้อตา

    เป็นการทดสอบประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ด้วยการมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ไปมา เช่น ปากกา แสง โดยคุณหมอจะสังเกตการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาว่ามีอาการอ่อนแรง และควบคุมดวงตาได้ดีหรือไม่

    • การทดสอบการมองเห็นระยะใกล้ และไกล

    การทดสอบการมองเห็น เป็นการทดสอบด้วยการอ่านตัวอักษรตามแถวที่กำหนด ซึ่งแต่ละแถวจะมีขนาดที่ต่างกันจากขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก และอาจกำหนดระยะห่างในการอ่านจากใกล้ไปถึงไกล อีกทั้งคุณหมออาจให้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่งเพื่อทดสอบการมองเห็นของดวงตาแต่ละข้าง

    • การทดสอบการมองเห็นด้วยการอ่านสี

    บางครั้งการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการตาบอดสี คุณหมออาจทำการทดสอบโดยให้อ่านจุดหลากสีที่รวมเป็นตัวเลข หรือรูปภาพ ซึ่งแต่ละจุดอาจมีสีต่างกัน หรือคล้ายกัน หากมองเห็นเป็นสีปกติก็อาจสามารถบอกคุณหมอได้อย่างชัดเจนว่าจุดสีมีสีใด และรูปที่เห็นเป็นรูปใด แต่หากมีข้อบกพร่องในการมองเห็นสี ก็อาจทำให้จำแนกสีได้ยาก และใช้เวลาอ่านนานกว่าปกติ

  • การทดสอบลานสายตา
  • การทดสอบลานสายตา คือ การทดสอบเพื่อประเมินการมองเห็นด้านข้าง โดยไม่ต้องหันหน้า หรือขยับดวงตา ซึ่งคุณหมออาจทดสอบด้วยการนั่งหันหน้ามองตรง และให้สังเกตวัตถุที่เคลื่อนที่มาด้านข้างดวงตา พร้อมแจ้งคุณหมอทุกครั้งว่าเห็นวัตถุที่เคลื่อนที่หรือไม่

    • การทดสอบการหักเหของแสงในดวงตา

    การตรวจการหักเหของแสงอาจใช้อุปกรณ์การตรวจตาที่เรียกว่า “โฟร็อปเตอร์ (Phoropter)’ เพื่อตรวจความโค้งของกระจกตา ว่าแสงสามารถผ่านเข้าไปยังส่วนของหลังตาหรือเรตินา ว่าสะท้อนกลับเข้ามาในรูม่านตาได้หรือไม่ ส่วนใหญ่มักใช้ประเมินหาปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว

    • การตรวจจอประสาทตา

    คุณหมออาจหยอดตาเพื่อขยายม่านตา ก่อนใช้เครื่องมือ “ออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscopy)’ เพื่อตรวจเรตินา แก้วนำแสง หลอดเลือดบริเวณเรตินาดวงตาอย่างละเอียด เพื่อตรวจสุขภาพด้านหลังดวงตาว่ามีการทำงานได้ดีหรือไม่

    • ตรวจตาด้วยเครื่อง Slit-lamp

    เป็นการตรวจด้วยเครื่องที่เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ที่มีหลอดไฟที่มีแสง ส่วนใหญ่นิยมนำมาตรวจบริเวณเปลือกตา ขนตา กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา บางกรณีอาจมีการใช้สีย้อมหยอดตาร่วม เพื่อสังเกตเซลล์ที่สร้างความเสียหายให้แก่ดวงตา

    • ตรวจความดันในลูกตา

    การทดสอบนี้เป็นการวัดความดันในลูกตา ที่อาจนำไปสู่การเกิดต้อหิน หรือภาวะที่ทำลายเส้นประสาทในตา โดยคุณหมออาจหยอดยาชาในลูกตา และใช้เครื่องมือเฉพาะทางสำหรับการตรวจตาที่เรียกว่า Tonometer กดกระจกตาด้วยแรงเบา

    เมื่อทราบวันเข้ารับการตรวจสุขภาพตา อาจพาผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวมาด้วย เพราะการตรวจสุขภาพตาบางวิธีที่มีการใช้ยาหยอดตา ยาชา ยาย้อมสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ตาไวต่อแสง มองเห็นไม่ชัด ที่อาจทำให้เดิน หรือขับรถไม่สะดวก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา