อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก (Subconjunctival Hemorrhage) คืออาการที่บริเวณตาขาวมีจุดสีแดงๆ หรือมีสีแดง เกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก แล้วเยื่อบุลูกตาไม่สามารถซับเลือดออกไปได้ทันเวลา
คำจำกัดความ
เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก คืออะไร
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก (Subconjunctival Hemorrhage) คือ อาการที่บริเวณตาขาวมีจุดสีแดงๆ หรือมีสีแดง เกิดจากการที่เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก แล้วเยื่อบุลูกตาไม่สามารถซับเลือดออกไปได้ทันเวลาจึงทำให้เลือดนั้นยังตกค้างจนมองเห็นเป็นจุดสีแดงที่บริเวณตาขาว
เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก พบได้บ่อยเพียงใด
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป และไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงจนต้องมีการดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้เพียงการไอหรือจามก็สามารถทำให้เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตกได้เช่นเดียวกัน โปรดปรึกษาแพทย์หากคุณต้องการข้อมูลและคำแนะนำเพิ่มเติม
อาการ
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก มีอะไรบ้าง
ปกติแล้วเรามักจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังมี อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก เพราะอาการดังกล่าวไม่ได้มีผลในการสร้างความเจ็บปวดและไม่มีผลต่อการมองเห็นด้วย แต่เราจะสามารถสังเกตได้เมื่อส่องกระจก หรือผู้อื่นบอกให้รู้ ซึ่งอาการของเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก มีดังต่อไปนี้
- มีจุดสีแดงสดเกิดขึ้นที่บริเวณตาขาว
- อาจรู้สึกได้ว่ามีรอยขีดข่วนที่ดวงตา
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับภายในเวลา 24-48 ชั่วโมง จุดสีแดงบริเวณตาขาวจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีเหลืองจนกระทั่งจุดสีแดงหายไป
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของคุณ โปรดปรึกษาแพทย์
เมื่อไหร่ควรไปพบหมอ
หากภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตกยังคงอยู่ หรือยังคงมีจุดสีแดงที่ดวงตา หรือมีอาการเจ็บปวดที่ดวงตา หากคุณมีอาการหรือพบสัญญาณของอาการข้างต้น หรือมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์ เพราะร่างกายของแต่ละคนแสดงอาการต่างกัน โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่เหมาะสมกับคุณต่อไป
สาเหตุ
สาเหตุของอาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
- การไอและการจามอย่างรุนแรง
- อาการเมื่อยล้า
- การอาเจียน
- การถูดวงตาอย่างรุนแรง
- ฝุ่นละอองต่างๆ เข้าตา
- คอนแทคเลนส์
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- การทำศัลยกรรม
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก อาจเกิดจากอาการทางสุขภาพต่างๆ ได้เหมือนกันแต่มักจะไม่ใช่สาเหตุหลัก หรือเกิดขึ้นได้แต่น้อย เช่น
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- การรับประทานยารักษาโรคที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดการตกเลือด
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
- เพศ เพศชายมีแนวโน้มที่จะเกิด อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก จากอุบัติเหตุ ขณะที่เพศหญิงมักจะเกิดจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การแต่งหน้า การใส่คอนแทคเลนส์
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหาเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตกได้ง่าย เพราะเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาสามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่าคุณมี อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก เพียงแค่มองดูที่ดวงตา อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจซักถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก หรือแพทย์อาจมีการตรวจวัดความดันโลหิต หรือแพทย์อาจมีการตรวจดวงตาโดยละเอียดด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Slit lamp หรืออาจมีการตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความเสี่ยงของโรคเลือดออกชนิดรุนแรง
การรักษาอาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก มักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง หรือราวๆ 2-3 วัน โดยที่ไม่ต้องมีการดูแลรักษาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะใช้น้ำแข็งประคบ หรือใช้น้ำตาเทียมเพื่อลดอาการบวมหรืออาการระคายเคืองที่ดวงตาได้ หรืออาจรับประทานยาเพื่อลดอาการเลือดออก แต่ควรได้รับยาในกรณีที่แพทย์สั่งให้เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อเยียวยาตนเองเพื่อรับมือกับ อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ สามารถช่วยป้องกันและรับมือกับอาการ เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก ได้
- หลีกเลี่ยงการขยี้ดวงตา หรือหากจำเป็นต้องขยี้ดวงตา ควรทำแต่เบามือเพื่อป้องกัน อาการเส้นเลือดฝอยในดวงตาแตก
- หากจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรฆ่าเชื้อทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาสำหรับทำความสะอาดคอนแทคเลนส์เสมอ
- สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาทุกครั้งที่ต้องทำกิจกรรมผาดโผน