backup og meta

ฉีดยา คุมแบบ 1 เดือน ปล่อยในได้ไหม และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    ฉีดยา คุมแบบ 1 เดือน ปล่อยในได้ไหม และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

    ผู้ที่ต้องการเลือกวิธีการคุมกำเนิดแบบฉีดอาจมีคำถามว่า ฉีดยา คุมแบบ 1 เดือน ปล่อยในได้ไหม และจะก่อให้เกิดการตั้งครรภ์หรือมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปหากฉีดยาคุมกำเนิดเกิน 7 วัน สามารถมีเพศสัมพันธ์และปล่อยในได้โดยไม่ทำให้ตั้งครรภ์ แต่การปล่อยในก็ยังอาจมีความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเสี่ยงตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจได้ โดยเฉพาะหากเข้ารับการฉีดยาคุมรอบใหม่ไม่ตรงเวลา ดังนั้น ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งหากไม่ต้องการตั้งครรภ์ และเพื่อป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ฉีดยาคุมกำเนิดอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

    ยาคุมกำเนิดแบบฉีดมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

    • ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว (Progestin-only Injectable Contraceptives) ส่วนใหญ่ฉีดบริเวณชั้นกล้ามเนื้อ ทุก ๆ 12 สัปดาห์
    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Injectable Contraceptives) ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและฮอร์โมนเอสโตรเจน ระยะเวลาในการฉีดประมาณทุก ๆ 1 เดือน จนกว่าจะเลิกคุมกำเนิด

    การฉีดยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องและตรงเวลาตามที่คุณหมอกำหนด อาจมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ถึง 99% โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ดีมากขึ้น อาจมีดังนี้

  • หากยังไม่ได้ตั้งครรภ์ สามารถเริ่มฉีดยาคุมกำเนิดเมื่อไหร่ก็ได้
  • การคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องด้วยยาคุมกำเนิดแบบฉีด ควรเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิดภายใน 1 สัปดาห์หลังครบกำหนด เพื่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดที่ต่อเนื่อง
  • การฉีดยาคุมกำเนิดหลังคลอด สามารถทำได้ทันทีโดยคุณหมออาจแนะนำให้ฉีดหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ แต่หากฉีดยาคุมกำเนิดหลังคลอดเกิน 21 วัน อาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นร่วมด้วยประมาณ 7 วัน
  • ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์หรือมีภาวะแท้งบุตร ควรฉีดยาคุมกำเนิดภายใน 5 วัน หากฉีดยาหลังจากนั้น ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยประมาณ 7 วัน
  • ฉีดยา คุมแบบ 1 เดือน ปล่อยในได้ไหม

    การฉีดยาคุมกำเนิดยิ่งฉีดเร็วและฉีดตรงเวลามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้มากเท่านั้น โดยยาคุมกำเนิดแบบฉีดหากเริ่มฉีดครั้งแรกตัวยาจะออกฤทธิ์คุ้มกำเนิดได้อย่างเต็มที่ อาจใช้เวลาประมาณ 7 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยร่วมด้วย

    แต่หากฉีดยาคุมกำเนิดเกิน 7 วัน ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยได้ เพราะตัวยาจะสามารถคุมกำเนิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะครบกำหนดฉีดรอบใหม่ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งหรือจะปล่อยน้ำอสุจิข้างในช่องคลอดก็ไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องแน่ใจว่าได้รับการฉีดยาคุมตรงเวลาเสมอ

    อย่างไรก็ตาม การปล่อยในยังคงมีข้อควรระวังที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายอย่าง ดังนี้

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ฉีดยาคุมกำเนิดบางคนอาจเกิดความชะล่าใจไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น
  • การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ แน่นอนว่ายาคุมกำเนิดแบบฉีดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้สูง แต่บางครั้งอาจเกิดความหลงลืมช่วงเวลาในการฉีดยารอบใหม่ หรือเข้ารับการฉีดยาช้ากว่ากำหนดก็สามารถทำให้ยาคุมมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
  • ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด

    ยาคุมกำเนิดมีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันการตั้งครรภ์ รวมทั้งข้อดีอื่น ๆ ดังนี้

    • มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง โดยเฉพาะหากเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิดตรงเวลาอยู่เสมอ
    • มีความสะดวกกกว่าการกินยาคุมกำเนิดแบบเม็ด ที่จะต้องกินยาทุกวันในเวลาเดียวกัน
    • อาจช่วยเพิ่มความสุขในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักมากขึ้น
    • บางคนอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนคุมกำเนิดรูปแบบอื่น
    • อาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้

    ข้อควรระวังของการฉีดยาคุมกำเนิด

    การคุมกำเนิดแบบฉีดอาจมีข้อควรระวัง ดังนี้

    • บางคนอาจมีผลข้างเคียงจากยา เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไป เจ็บคัดตึงเต้านม ตกขาวมากกว่าปกติ ตัวบวม อาจเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
    • อาจเกิดการหลงลืมได้ เพราะระยะเวลาในการฉีดยาคุมรอบใหม่ใช้เวลานาน
    • อาจเสียเวลาในการเดินทางเพื่อเข้ารับการฉีดยาคุม
    • บางคนที่ต้องการเลิกคุมกำเนิด อาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 1 ปี กว่าจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา