backup og meta

ทำหมันชาย ประโยชน์ และการดูแลตัวเอง

ทำหมันชาย ประโยชน์ และการดูแลตัวเอง

ทำหมันชาย เป็นการคุมกำเนิดอย่างถาวร โดยการตัดหรือปิดท่อนำอสุจิ เพื่อช่วยปิดกั้นไม่ให้ตัวอสุจิสามารถไปปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง จึงทำให้ไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ เหมาะสำหรับคู่รักที่ไม่ต้องการมีบุตรในอนาคต อย่างไรก็ตาม การทำหมันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนการทำหมันและการดูแลตัวเองหลังทำหมัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ อาการปวดเรื้อรัง และอาการบวมในถุงอัณฑะ

[embed-health-tool-bmi]

ทำหมันชาย คืออะไร

การทำหมันชาย คือ การคุมกำเนิดแบบถาวร เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรในอนาคตหรือมีบุตรเพียงพอแล้ว โดยการปิดผนึกหรือตัดท่อนำอสุจิเพื่อไม่ให้อสุจิผ่านออกมาผสมกับไข่ของผู้หญิงขณะมีเพศสัมพันธ์ หลังจากการทำหมันยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ทางเพศ และจะยังคงหลั่งน้ำอสุจิเมื่อถึงจุดสุดยอดออกมาได้เช่นเดิม แต่จะไม่มีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่ จึงไม่สามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม การทำหมันไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม หนองในแท้ เอชไอวี/เอดส์ ดังนั้น จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ประเภทของการทำหมันชาย มีดังนี้

  1. การทำหมันแบบผ่าตัด เป็นการทำหมันโดยเริ่มด้วยการฉีดยาชาบริเวณผิวหนังถุงอัณฑะ จากนั้นจะใช้มีดกรีดเปิดผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะเหนือท่ออสุจิ เพื่อตัดท่ออสุจิและผูกปลายท่อ และเย็บปิดแผล
  2. การทำหมันโดยไม่ใช้มีดผ่าตัด เป็นการใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนังของถุงอัณฑะลงไปถึงท่ออสุจิ จากนั้นจึงตัดท่ออสุจิและผูกปิดผนึกปลายท่อ โดยวิธีทำหมันนี้จะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและไม่มีการเย็บปิดแผล แต่อาจใช้ผ้าพันแผลปิดแผลไว้

ประโยชน์ของการทำหมันชาย

ประโยชน์ของการทำหมันชาย มีดังนี้

  • มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์มากกว่า 99%
  • มีผลข้างเคียงต่ำ
  • มีค่าใช้จ่ายที่น้อยว่าการทำหมันในผู้หญิง เนื่องจากไม่ต้องดมยาสลบ หรือ ระงับความเจ็บปวดทางช่องไขสันหลัง
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) อารมณ์ทางเพศ และการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

ผลข้างเคียงของการทำหมันชาย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการทำหมันชาย มีดังนี้

  • ปัสสาวะลำบาก
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • มีอาการปวดและเลือดออกเล็กน้อยในถุงอัณฑะหลังทำหมัน
  • อัณฑะฟกช้ำ อักเสบ และบวม
  • การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด

นอกจากนี้ หากมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส มีเลือดไหลออกมาก อัณฑะบวม มีอาการปวดรุนแรง หลอดน้ำอสุจิโป่ง (Spermatocele) และมีก้อนเนื้อเยื่ออักเสบหรือที่เรียกว่า แกรนูโลมา (Granuloma) บริเวณที่ผ่าตัด ควรเข้าพบคุณหมอในทันที

การดูแลตัวเองหลังทำหมันชาย

การดูแลตัวเองหลังทำหมัน มีดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อพักฟื้นบาดแผล
  • ควรปิดผ้าพันแผลไว้ 3-4 วันหลังทำหมัน และควรสวมกางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยพยุงอัณฑะ
  • สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ และควรเช็ดบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การยกของหนัก อย่างน้อย 2-3 วัน หลังทำหมัน
  • หากสังเกตว่ามีอาการบวม ควรประคบเย็นโดยใช้น้ำแข็งห่อผ้าหรือเจลเย็น
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์ และควรสวมถุงยางอนามัย หลังจากการทำหมัน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากยังอาจมีอสุจิที่ค้างอยู่ในท่ออสุจิ
  • เข้ารับการวิเคราะห์น้ำอสุจิหลังการทำหมัน 6-12 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูว่ายังมีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่หรือไม่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vasectomy (male sterilisation). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/vasectomy-male-sterilisation/.Accessed July 7, 2022.

Vasectomy. https://www.webmd.com/sex/birth-control/vasectomy-overview.Accessed July 7, 2022.

Vasectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vasectomy/about/pac-20384580.Accessed July 7, 2022.

Vasectomy. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/vasectomy.Accessed July 7, 2022.

Vasectomy. https://medlineplus.gov/ency/article/002995.htm.Accessed July 7, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท่าเซ็กส์อันตราย ที่ควรระมัดระวังขณะมีเพศสัมพันธ์

ประเภทของการมีเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา