backup og meta

ยาคุมผู้ชาย ตัวเลือกของการคุมกำเนิดในอนาคต

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ยาคุมผู้ชาย ตัวเลือกของการคุมกำเนิดในอนาคต

    ยาคุมผู้ชาย เป็นยาคุมที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรให้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและมีความปลอดภัย โดยยาคุมผู้ชายอาจมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศชายและช่วยลดการผลิตอสุจิ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และอาจใช้เป็นตัวเลือกในการคุมกำเนิดได้อีกหนึ่งวิธี

    ยาคุมผู้ชาย มีประโยชน์อย่างไร

    การคุมกำเนิดในผู้ชายอาจมีอยู่ 2 วิธี คือ การใส่ถุงยางอนามัยและการทำหมัน โดยการใช้ถุงยางยังอาจมีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจได้ เช่น ถุงยางแตก การใช้ผิดวิธี ขนาดถุงยางที่เลือกอาจไม่เหมาะสม ส่วนการทำหมันนั้นเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร จึงอาจทำให้ผู้ชายบางคนเกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย การมีลูกในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพและความต้องการทางเพศ ดังนั้น ยาคุมผู้ชาย จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ในการคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาคุมผู้ชาย

    ยาคุมผู้ชาย ตัวเลือกในการคุมกำเนิด

    ในปัจจุบันยาคุมผู้ชายยังอยู่ในการศึกษาวิจัยให้ได้ประสิทธิภาพที่ปลอดภัยและเหมาะสมต่อการใช้งาน ซึ่งรูปแบบของยาคุมผู้ชายอาจมีทั้งแบบฉีด แบบยาเม็ดและแบบใช้ผ่านผิวหนัง ซึ่งอาจมีคุณสมบัติและการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Therapeutic Advances in Endocrinology and Metabolism เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย พบว่า ฮอร์โมนคุมกำเนิดสำหรับเพศชายส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของเพศชาย ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนต่อมใต้สมอง (Luteinizing Hormone หรือ LH) และฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ (Follicular Stimulating Hormone หรือ FSH) โดยยับยั้งการทำงานของอัณฑะในการสร้างอสุจิและยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศชาย และทำให้เซลล์เซอโทลิ (Sertoli) ซึ่งเป็นเซลล์ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สืบพันธุ์ลดลง

    นอกจากนี้ ยาคุมผู้ชายยังอาจถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

    ยาคุมผู้ชายแบบฉีด

    • ยาคุมผู้ชายแบบฉีดโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายออกฤทธิ์สั้น (Testosterone Enanthate) โดยมีการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 2 ครั้ง พบว่า ยาคุมผู้ชายชนิดนี้อาจมีประโยชน์ในการยับยั้งการสร้างอสุจิและลดความเข้มข้นของอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ความรู้สึกไม่สบายบริเวณที่ฉีด เกิดสิว การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ น้ำหนักขึ้น ภาวะเลือดคั่งสูง ไขมันผิดปกติ
    • ยาคุมผู้ชายแบบฉีดโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายออกฤทธิ์นาน (Testosterone Undecanoate) อาจช่วยยับยั้งการผลิตอสุจิและอาจมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ถึง 94.8% เมื่อหยุดยาการผลิตอสุจิจะกลับมาเป็นปกติโดยไม่มีภาวะที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ยาคุมชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น ความรู้สึกไม่สบายบริเวณที่ฉีด เป็นสิว อารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ใบหน้าบวมหรือเกิดผื่นที่ผิวหนัง ความต้องการทางเพศลดลง
    • ยาคุมผู้ชายแบบฉีดโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ยาคุมชนิดนี้อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ฮอร์โมนเพศชายในการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว โดยมีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotrophins) ที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นและสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งช่วยลดการผลิตอสุจิได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น สิว ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ อารมณ์แปรปรวน
    • ยาคุมผู้ชายแบบฉีดโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายร่วมกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin Releasing Hormone หรือ GnRH) อาจช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนต่อมใต้สมอง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างอสุจิ อย่างไรก็ตาม ยาคุมชนิดนี้ยังคงมีราคาแพงและยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสูตรต่อไป

    ยาคุมผู้ชายแบบใช้ผ่านผิวหนัง

    ยาคุมผู้ชายชนิดนี้เป็นการใช้ฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเนสโตโรน (Nestorone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นและสร้างฮอร์โมนเพศ และอาจช่วยยับยั้งการทำงานของอัณฑะในการผลิตฮอร์โมนเพศชาย

    จากการศึกษาผู้ป่วย 56 คน ให้ใช้เจลที่มีฮอร์โมนเพศชายขนาด 10 กรัม เจลที่มีฮอร์โมนเพศชายร่วมกับฮอร์โมนเนสโตโรนขนาด 8 มิลลิกรัม หรือเจลที่มีฮอร์โมนเพศชายร่วมกับฮอร์โมนเนสโตโรนขนาด 12 มิลลิกรัม พบว่า ผู้ที่ใช้เจลที่มีฮอร์โมนเพศชายขนาด 10 กรัม สามารถช่วยลดอสุจิได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียง เช่น เป็นสิวเล็กน้อยถึงปานกลาง

    ยาคุมผู้ชายแบบรับประทาน

    ยาคุมผู้ชายในปัจจุบันที่ได้รับการศึกษาและพัฒนาส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของยาคุมแบบฉีดและแบบฝังในผิวหนังซึ่งอาจทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้ ดังนั้น นักวิจัยจึงคิดค้นยาคุมผู้ชายรูปแบบใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น เช่น แบบรับประทาน แบบใช้ทาภายนอก ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นพัฒนาและศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของยาต่อฮอร์โมนและการผลิตอสุจิ ดังนี้

    • ไดเมทานโดรโลน อันเดกเคโนเอท (Dimethandrolone Undecanoate หรือ DMAU) เป็นยาคุมผู้ชายชนิดรับประทานทุกวัน ซึ่งอาจมีฤทธิ์ช่วยลดการเจริญเติบโตของตัวอสุจิและฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งการศึกษาในผู้ชาย 82 คน เป็นเวลา 28 วัน ให้รับประทานยาคุม 400 มิลลิกรัม/วัน พบว่า ไดเมทานโดรโลน อันเดกเคโนเอทสามารถยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม อาจมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ค่าความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และไขมันดีในเลือดลดลง
    • 11-เบตา-เมทิล-19-นอร์เตส-โทสเตอโรน 17-เบตา-โดเดซิลคาร์บอเนต (11-beta-methyl-19-nortes-tosterone 17-beta-dodecylcarbonate) เป็นอีกหนึ่งโมเลกุลที่อยู่ในขั้นศึกษาอาจช่วยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนกลุ่มไกลโคโปรตีนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าในกระแสเลือดที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นและสร้างฮอร์โมนเพศ โดยในการศึกษาหนึ่งผู้ที่รับประทานยาคุมขนาด 100-800 มิลลิกรัม พร้อมกับอาหาร สามารถช่วยลดฮอร์โมนเพศชายได้ดี

    อย่างไรก็ตาม ยาคุมผู้ชายทุกชนิดยังคงอยู่ในขั้นการศึกษาวิจัยซึ่งยังไม่มีผลิตออกมาจำหน่าย แต่เมื่อการศึกษามีผลสำเร็จและยาคุมมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่เหมาะสม ปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อย ยาคุมผู้ชายจึงอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับการคุมกำเนิดในอนาคต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา