ยาคุมแบบแปะ เป็นการคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง โดยใช้แผ่นแปะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินติดลงบนผิวหนังเพื่อให้ฮอร์โมนซึมเข้าทางผิวหนัง เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบลืมหรือไม่สะดวกรับประทานยาคุมตามวันและเวลาที่กำหนด แต่ต้องเปลี่ยนทุก 1 สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุมแบบแปะ คืออะไร
ยาคุมแบบแปะ คือ การคุมกำเนิดโดยใช้แผ่นแปะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินแปะบริเวณหน้าท้อง หลัง แขน หรือลำตัวส่วนบน จากนั้น ฮอร์โมนจะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อยับยั้งการตกไข่ และทำให้เมือกบริเวณปากมดลูกหนาขึ้น ป้องกันอสุจิเดินทางไปถึงไข่ หากใช้อย่างถูกวิธีการคุมกำเนิดแบบแปะอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้
ข้อดีและข้อเสียของยาคุมแบบแปะ
ข้อดีของการใช้ยาคุมกำเนิดแบบแปะ
- ใช้งานง่าย
- อาจช่วยลดการเกิดสิว เนื่องจากช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมนส่งผลให้ลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้
- ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ลดความเสี่ยงการเกิดซีสต์ในรังไข่และโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่
ข้อเสียของการใช้ยาคุมกำเนิดแบบแปะ
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก เพราะยาคุมกำเนิดแบบแปะอาจปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่อง
- อาจมีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น สายตาพร่ามัว
- อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน ท้องเสีย การแข็งตัวของเลือด ติดเชื้อในช่องคลอด
- เสี่ยงเลือดออกมากระหว่างมีประจำเดือน
จากการทดลองเกี่ยวกับการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดในหญิงวัยรุ่นไทยของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยให้ผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรง 58 คน อายุเฉลี่ย 19 ปี ใช้ยาคุมกำเนิดแบบแปะพบว่า อาการปวดประจำเดือนลดลง ระยะเวลาการมีประจำเดือนสั้นลง สิวน้อยลง และสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่อาจมีอาการเจ็บเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะเล็กน้อย
ยาคุมแบบแปะเหมาะสำหรับใคร
ยาคุมกำเนิดแบบแปะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์ และอยู่ในเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์ และไม่อยู่ในช่วงให้นมบุตร
- ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี
- ผู้ที่ไม่มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หรือเสี่ยงเป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่เป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ ความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคตับ ไมเกรน มะเร็งเต้านม
- ผู้ที่ไม่ได้กำลังใช้ยารักษา เอชไอวี ยารักษาวัณโรค และยารักษาลมบ้าหมู อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประวัติใช้ยารักษาภาวะต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอและแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
วิธีใช้ยาคุมแบบแปะ
การใช้ยาคุมแบบแปะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ควรแปะยาคุมกำเนิดแบบแปะบนผิวหนังที่แห้งสนิทและไม่มีขนมาก เช่น แขน ขา หลัง หน้าท้อง และควรเปลี่ยนเป็นแผ่นใหม่ทุก ๆ 1 สัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และหยุดใช้เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาคุมแบบแปะ ควรปรึกษาคุณหมอ และตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบว่าร่างกายเหมาะสมในการใช้ยาคุมแบบแปะหรือไม่
คำแนะนำการใช้ยาคุมแบบแปะ
คำแนะนำการยาคุมกำเนิดแบบแปะ มีดังนี้
- ควรแปะแผ่นคุมกำเนิดในวันแรกที่ประจำเดือนมา
- ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรแปะแผ่นคุมกำเนิดบริเวณผิวหนังที่เป็นแผล หน้าอก และไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพื่อป้องกันผิวระคายเคือง
- หากแผ่นแปะคุมกำเนิดลอกก่อนครบ 1 สัปดาห์ แต่หลุดไม่เกิน 24 ชั่วโมง สามารถแปะแผ่นคุมกำเนิดกลับเข้าที่เดิม แต่หากหลุดลอกออกนานกว่า 24 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนเป็นแผ่นใหม่ทันที และนับวันที่แปะแผ่นใหม่เป็นวันที่ 1 จนครบ 7 วัน หรือ 1 สัปดาห์
- หากลืมเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดหลังจากครบกำหนดไม่เกิน 48 ชั่วโมง ให้แกะออกทันทีที่นึกขึ้นได้ และเปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที แต่หากลืมเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดมากกว่า 48 ชั่วโมง หรือนานกว่า 10 วัน ควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเริ่มนับวันที่ใช้งานใหม่อีกครั้ง จากนั้นเปลี่ยนแผ่นใหม่อีกครั้งทุก ๆ 7 วัน หากลืมถอดออกนานกว่า 3 สัปดาห์ ให้รีบถอดออกเร็วที่สุด และพักการแปะแผ่นใหม่จนกว่าจะมีประจำเดือนรอบถัดไป