backup og meta

ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก อะไร อันตรายต่อร่างกายหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก อะไร อันตรายต่อร่างกายหรือไม่

    ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น วัยหมดประจำเดือน ความเครียด การออกกำลังกายหนัก ที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่มีความสำคัญต่อกระบวนการตกไข่และการมีประจำเดือน ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    เมนส์มาช้าสุดกี่วัน

    โดยปกติประจำเดือนจะมาทุก ๆ 21-35 วัน แต่บางครั้งอาจมาเร็วหรือมาช้ากว่ารอบเดือนปกติประมาณ 3-7 วัน ซึ่งประจำเดือนเลื่อนอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาเร็วหรือมาช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละรอบประจำเดือนไม่ควรมามากกว่า 7 วัน 

    ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก อะไร

    ประจําเดือนเลื่อน เกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้

    • วัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 40-55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลงแล้วอาจทำให้การตกไข่น้อยลงตาม และส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนและหยุดลงในเวลาต่อมา ซึ่งอาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง เป็นต้น 
    • ความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่และมีประจำเดือนเลื่อน ดังนั้น หากความเครียดลดลงประจำเดือนอาจกลับมาตามรอบปกติ
    • ออกกำลังกายหนัก การออกกำลังกายอย่างหักโหมเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบทำให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนเพศเสียสมดุล อาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนไม่มาตามรอบปกติ
    • น้ำหนักมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วนอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลกัน และผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ อาจไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก จนอาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนหรือมาผิดปกติได้ 
    • ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) อาจทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล แล้วส่งผลให้ตกไข่ไม่สม่ำเสมอและประจำเดือนไม่มาได้ 
    • การคุมกำเนิด เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยฮอร์โมนเหล่านี้อาจหยุดการตกไข่และช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนได้ 

    อย่างไรก็ตาม หากประจำเดือนมานานเกิน 7 วัน หรือมาน้อยกว่า 3 วัน  หรือประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนาน 3 เดือน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของประจำเดือนมาผิดปกติ 

    วิธีดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ

    วิธีที่ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติอาจมีดังนี้ 

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และผู้ที่มีน้ำหนักน้อยควรเพิ่มน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยอาจปรึกษานักโภชนาการสำหรับการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ เพื่อการควบคุมน้ำหนักที่ดี 
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม แต่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน 
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เครียด โดยอาจหาเวลาว่างไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน  
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ทั้งนี้ ควรจดบันทึกการมาและวันหมดของประจำเดือนในแต่ละเดือน และหากมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกันแล้วประจำเดือนมาช้ากว่าปกติประมาณ 5 วัน ควรซื้อที่ตรวจครรภ์มาทดสอบ 

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาและการวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาตามอาการ 

    • เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว 
    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ 
    • ประจำเดือนมานานเกิน 7 วัน 
    • มีเลือดออกจากช่องคลอดเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือไม่มีประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา