backup og meta

ลืมกินยาคุม3วัน ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

    ลืมกินยาคุม3วัน ควรทำอย่างไร

    ยาคุมกำเนิด คือ ยาป้องกันการตั้งครรภ์ ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก และอาจช่วยยับยั้งการตกไข่ ยาคุมกำเนิดรูปแบบรับประทานมีแบบรายเดือน 21 หรือ 28 เม็ดที่รับประทานตามแผงลูกศร และยาคุมฉุกเฉินที่ในแผงมี 1 หรือ 2 เม็ด รับประทานไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบถูกวิธีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่หาก ลืมกินยาคุม3วัน อาจทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการรับประทานยาคุมให้ถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด

    ลืมกินยาคุม3วัน ทำไงดี

    หากลืมกินยาคุม3วัน ควรปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

    ลืมกินยาคุม3วัน แบบแผง 21 เม็ด และ 28 เม็ด

    ยาคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน และยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ แบบแผง 21 เม็ด ที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน แล้วหยุดพัก 7 วัน และแบบแผง 28 เม็ด ที่ประกอบไปด้วยยาที่มีฮอร์โมน 21 เม็ด และยาหลอกอีก 7 เม็ด สามารถรับประทานติดต่อกันได้เลยโดยไม่ต้องหยุดพัก โดยควรเริ่มรับประทานเมื่อประจำเดือนมาวันแรก หรือรับประทานไม่เกิน 5 วัน หลังจากประจำเดือนมา โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันตามลูกศรบนแผง ไม่ควรข้ามเม็ด เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง

    สำหรับผู้ที่ลืมกินยาคุมในรูปแบบแผง 21 เม็ด และ 28 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน ควรหยุดรับประทานแผงเดิมทันที และเริ่มรับประทานแผงใหม่เมื่อประจำเดือนมาวันแรกของรอบเดือนถัดไป โดยในระหว่างที่รอเริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

    แต่สำหรับผู้ที่ลืมกินยาคุมเพียง 1 วัน ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานเม็ดต่อไปในช่วงเวลาเดิม ผู้ที่ลืมรับประทานยาคุม 2 วัน ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้จำนวน 2 เม็ด แบ่งเป็นเวลาเช้า 1 เม็ด และเย็น 1 เม็ด และรับประทานอีก 2 เม็ดในวันถัดไป แบ่งเป็นเวลาเช้า 1 เม็ด และเย็น 1 เม็ดเช่นกัน จากนั้นจึงรับประทานตามปกติวันละ 1 เม็ด จนกว่าจะหมดแผง

    ลืมกินยาคุมฉุกเฉิน

    ยาคุมฉุกเฉินที่ประเทศไทยที่นิยมใช้คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ใน 1 แผงจะมี 2 เม็ด แต่ละเม็ดจะมีฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล 0.75 มิลลิกรัม ควรรับประทานเม็ดแรกไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือรับประทานโดยเร็วที่สุด และรับประทานยาเม็ดที่ 2 ห่างจากเม็ดแรกประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อความสะดวกอาจรับประทานทั้ง 2 เม็ด ภายในครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังมีแบบ 1 เม็ดใน 1 แผงที่มีฮอร์โมน 1.5 มิลลิกรัม สำหรับรับประทานครั้งเดียวภายใน 72 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ยาคุมฉุกเฉินมักใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ถุงยางแตก ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และไม่แนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 แผง ภายใน 1 เดือน เพราะอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเสียหาย และปวดท้องรุนแรง

    หากลืมกินยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน อาจมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงควรตรวจครรภ์ทันทีเมื่อประจำเดือนขาดนานกว่า 1 เดือน หรือพบว่ามีสัญญาณการตั้งครรภ์ เช่น คัดเต้านม เต้านมขยาย สีหัวนมคล้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน 

    การคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ เพื่อป้องกันการลืมกินยาคุม3วัน

    หากมีความกังวลว่าอาจลืมกินยาคุม ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้งานสะดวกและหาซื้อได้ง่ายมากที่สุด
    • ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นพลาสติก หรือทองแดงรูปตัว T ที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินใส่ไว้ในบริเวณปากมดลูก โดยสามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3-10 ปี
    • ฝังยาคุม มีลักษณะเป็นแท่งพลาสติกสีขาวขนาดเล็กที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน ฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณแขนหรือก้น ใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างเมือกปากมดลูกให้หนา ป้องกันการปฏิสนธิและป้องกันการตั้งครรภ์ มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่เมื่อครบกำหนดการใช้งาน
    • ยาคุมกำเนิดแบบฉีด คือการฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินเข้ากล้ามเนื้อสะโพกหรือต้นแขน เพื่อกระตุ้นการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก และจำเป็นต้องกลับมาฉีดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน หรือตามวันที่คุณหมอกำหนดก่อนยาจะหมดฤทธิ์
    • แผ่นแปะคุมกำเนิด มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินที่ปล่อยฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด และควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกสัปดาห์ โดยยกเว้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
    • วงแหวนคุมกำเนิด เป็นวงแหวนพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเข้าสู่กระแสเลือด โดยควรใส่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และถอดออกในสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมา เมื่อประจำเดือนสิ้นสุดลงจึงกลับมาใส่วงแหวนคุมกำเนิดตามปกติ โดยควรให้คุณหมอเป็นคนใส่ให้เท่านั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด
    • ไดอะฟรมครอบปากมดลูก คืออุปกรณ์ที่ทำจากซิลิโคน มีลักษณะคล้ายถ้วยและยืดหยุ่น มักใช้ร่วมกับยาฆ่าอสุจิโดยทายาฆ่าอสุจิให้ทั่วไดอะแฟรมครอบปากมดลูก แล้วสอดเข้าไปในช่องคลอดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และควรใส่ทิ้งไว้อย่างน้อยอีก 6 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรถอดออกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์เสร็จ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิได้เต็มประสิทธิภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา