backup og meta

หน้า 7 หลัง 7 วิธีนับระยะปลอดภัย

หน้า 7 หลัง 7 วิธีนับระยะปลอดภัย

หน้า 7 หลัง 7 คือ วิธีการนับระยะปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ โดยสังเกตจากรอบประจำเดือนของผู้หญิง อาจมีความแม่นยำสำหรับผู้หญิงที่มีรอบประจำเดือนปกติ มาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกเดือน ซึ่งหน้า 7 หลัง 7 เป็นระยะที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรืออุปกรณ์คุมกำเนิด ทั้งนี้ การนับหน้า 7 หลัง 7 ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อีกทั้งประสิทธิในการคุมกำเนิดอาจลดลงในรายที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือในรายที่มีรอบเดือนสั้นหรือยาวเกินไป

[embed-health-tool-ovulation]

หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร

หน้า 7 หลัง 7 คือ วิธีการนับระยะปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ ช่วยให้รู้ว่าช่วงใดของเดือนที่ร่างกายมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดการตกไข่ต่ำกว่าช่วงอื่น แต่ผู้หญิงที่มีรอบเดือนไม่ปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ไม่ควรใช้วิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 เพราะอาจมีความคาดเคลื่อน รวมถึงอาจทำให้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ การนับระยะปลอดภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจช่วงรอบประจำเดือนว่าประจำเดือนมาเมื่อไร ช่วงการตกไข่อยู่ช่วงไหน เพื่อวางแผนตั้งครรภ์ และคุมกำเนิด

วิธีการนับหน้า 7 หลัง 7

โดยปกติรอบของประจำเดือนในแต่ละรอบ จะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 28-32 วัน โดยแต่ละช่วงอาจมีรายละเอียดดังนี้

  • วันที่ 1 วันแรกในการมีประจำเดือน
  • วันที่ 7 รังไข่มีการเจริญเติบโตของไข่เพื่อเตรียมการตกไข่ เเละรังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก
  • วันที่ 11-21 ช่วงเวลาที่อาจมีการตกไข่ โดยรังไข่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้นจนกระตุ้น ฮอร์โมนเเอลเฮชให้หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ ไข่จะเดินทางไปที่ท่อนำไข่ ถ้ามีอสุจิมาที่ท่อนำไข่ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะเกิดการปฏิสินธิ และมีการพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนเพื่อฝังที่โพรงมดลูก ซึ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ผลิตจากรังไข่ เพื่อเตรียมสำหรับการฝังตัวภายหลังจากที่มีการตกไข่เรียบร้อยแล้ว
  • วันที่ 28 หากไข่ไม่มีการปฏิสนธิ ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนลดลง และทำให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกกลายเป็นเลือดประจำเดือน

ตัวอย่าง การนับแบบหน้า 7 หลัง หากมั่นใจว่าประจำเดือนในเดือนหน้าจะมาวันที่ 16 เป็นวันแรก แสดงว่า 7 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน คือ วันที่ 9-15 จะเป็นวันที่ปลอดภัย ส่วนวิธีการนับหลัง 7 คือ วันที่ 16-22 โดยนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก คือ นับจากวันที่ 16 ไปอีก 7 วัน โดยระยะปลอดภัยของการมีเพศสัมพันธ์ คือ วันที่ 9-22

อย่างไรก็ตามไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกมีการเปิดออกเล็กน้อย อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูกและอุ้งเชิงกรานได้มากกว่าปกติ

ข้อดีของการนับหน้า 7 หลัง 7

ข้อดีของการคุมกำเนิดแบบหน้า 7 หลัง 7 อาจมีดังนี้

  • ไม่มีค่าใช้จ่าย อาจใช้แค่ปฎิทินในการจด หรือบันทึกข้อมูลของประจำเดือน
  • ไม่มีผลข้างเคียง เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม หรือรับประทานยา
  • ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อาจมีผลต่อร่างกาย
  • หากต้องการที่จะตั้งครรภ์ สามารถเลิกวิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 ได้ทันที

ข้อเสียของการนับหน้า 7 หลัง 7 

ข้อเสียของการคุมกำเนิดแบบหน้า 7 หลัง 7 อาจมีดังนี้

  • ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หากมีรอบประจำเดือนไม่ปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอ
  • จำเป็นจะต้องมีความแม่นยำทั้งชายและหญิง อาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 ให้ถูกต้อง เพราะหากนับผิดอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้

วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น

การคุมกำเนิดเป็นวิธีการป้องกันเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยอาจมีวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การใช้ถุงยางอนามัย นอกจากอาจช่วยเรื่องคุมกำเนิดแล้ว ยังอาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การรับประทานยาคุมกำเนิด มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน
    • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
    • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน
  • การฉีดยาคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของผู้หญิงในระยะเวลาที่คุณหมอกำหนด
  • การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine Device หรือ IUD) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ห่วงอนามัยชนิดเคลือบสารทองแดง และห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีลักษณะเป็นรูปตัว T สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของห่วงคุมกำเนิด

ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือแต่ละเดือนมาไม่ตรงทุกครั้ง ควรใช้การคุมกำเนิดแบบอื่น หรือสอบถามคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในการประกอบการตัดสินใจ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Natural family planning (fertility awareness). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/natural-family-planning/. Accessed September 17,2021

Your contraception guide. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/. Accessed September 17,2021

Natural Family Planning: Fertility Awareness Method. https://americanpregnancy.org/getting-pregnant/natural-family-planning/. Accessed September 17,2021

Fertility Awareness. https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/fertility-awareness. Accessed September 17,2021

9 types of contraception you can use to prevent pregnancy. https://www.health.qld.gov.au/news-events/news/types-contraception-women-condoms-pill-iud-ring-implant-injection-diaphragm. Accessed September 17,2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ห่วงคุมกำเนิด ประโยชน์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ยาเม็ดคุมกำเนิด กับ ยาคุมกำเนิดแบบฝัง แบบไหนดีกว่ากัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา