backup og meta

แผ่นแปะยาคุม คืออะไร มีวิธีใช้อย่างไร

แผ่นแปะยาคุม คืออะไร มีวิธีใช้อย่างไร

แผ่นแปะยาคุม เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการคุมกำเนิด โดยการแปะแผ่นฟิล์มพลาสติกที่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน และ ฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน เพื่อให้ฮอร์โมนซึมจากผิวหนัง เข้าสู่กระแสเลือด โดยออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการยับยั้งการตกไข่(ovulation) แผ่นแปะยาคุมสามารถใช้แปะบนผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนใหญ่มักแปะบริเวณต้นแขน หน้าท้อง ยกเว้นบริเวณเต้านม เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ด แต่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่บ่อยครั้งตามช่วงเวลาที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ

[embed-health-tool-ovulation]

แผ่นแปะยาคุม คืออะไร

แผ่นแปะยาคุม คือ ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ที่ทำจากฟิล์มพลาสติก และผ้าใยสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม สีน้ำตาลอ่อน ประกอบไปด้วยฮอร์โมนรวมกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) เช่น เอทินิลเอสตราไดออล (Ethinyl estradiol) และฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน (Progestins) เช่น เลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) นอร์เอลเจสโทรมิน (Norelgestromin) ซึ่งจะทำการปล่อยฮอร์โมนเหล่านี้ผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด และไปออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ 

วิธีการใช้แผ่นแปะยาคุม คือ ใช้สัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา การแปะแผ่นยาคุมใน 1 รอบ อาจคุมกำเนิด 4 สัปดาห์หรือ 28 วัน สำหรับประเทศไทยมีแผ่นแปะคุมกำเนิดที่นิยมใช้ 2 ชนิด ได้แก่

  • แผ่นแปะคุมกำเนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับนอร์เอลเจสโทรมิน มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 20 ตารางเซนติเมตร มีเอทินิลเอสตราไดออล 600 ไมโครกรัม และนอร์เอลเจสโทรมิน 6 มิลลิกรัม ซึ่งอาจปล่อยเอทินิลเอสตราไดออลโดยเฉลี่ย 33.9 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 203 ไมโครกรัม/วัน
  • แผ่นแปะคุมกำเนิดชนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับเลโวนอร์เจสเตรล มีลักษณะเป็นแผ่นกลมขนาด 28 ตารางเซนติเมตร บริเวณตรงกลางมีขนาด 15 ตารางเซนติเมตร โดยมีเอทินิลเอสตราไดออล 2.3 มิลลิกรัม และเลโวนอร์เจสเตรล 2.6 มิลลิกรัม ซึ่งอาจปล่อยเอทินิลเอสตราไดออล 30 ไมโครกรัม/วัน และเลโวนอร์เจสเตรล 120 ไมโครกรัม/วัน

ประโยชน์ของแผ่นแปะยาคุม

ประโยชน์ของแผ่นแปะยาคุม มีดังนี้

  • ใช้งานง่าย สะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่ลืมรับประทานยาคุมแบบเม็ดหรือมีปัญหาในการกลืนยา
  • สามารถถอดออกได้ตลอดเวลา
  • ลดอาการปวดท้องประจำเดือนและอาจทำให้ประจำเดือนมาปกติ
  • อาจช่วยลดโอกาสการเกิดถุงน้ำรังไข่และโรคมะเร็งบางชน
  • ฮอร์โมนจากแผ่นแปะยาคุมจะไม่ถูกดูดซึมโดยกระเพาะอาหาร จึงสามารถใช้ได้หากมีอาการป่วย อาเจียน หรือท้องเสีย
  • เมื่อหยุดใช้สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้เลย

แผ่นแปะยาคุม ไม่เหมาะกับใคร

การใช้แผ่นแปะยาคุม อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพ ดังนี้

  • อายุ 35 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม
  • มีประวัติเป็นลิ่มเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง
  • เป็นโรคตับ ไมเกรน หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นดีซ่าน
  • กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
  • เป็นมะเร็งตับหรือโรคเนื้องอกในตับ

นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องแจ้งให้คุณหมอทราบในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีคอเลสเตอรอลสูง ภาวะซึมเศร้า โรคกลาก สะเก็ดเงิน อยู่ในช่วงให้นมบุตร และกำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ยารักษาลมชัก เนื่องจากคุณหมออาจแนะนำวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสุขภาพ

วิธีใช้แผ่นแปะยาคุม

วิธีใช้แผ่นแปะยาคุม มีดังนี้

  1. เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อให้คุณหมอประเมินว่าสามารถคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่
  2. ควรแปะแผ่นยาคุมภายในวันแรกที่ประจำเดือนมา หากไม่ได้เริ่มแปะแผ่นยาในวันแรกที่มีประจำเดือน จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน เช่น ใช้ถุงยางอนามัย หรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ หลังแปะแผ่นยาคุมหรืออาจแปะแผ่นคุมกำเนิดในช่วงที่ไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์
  3. ก่อนแปะแผ่นคุมกำเนิด ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการและเช็ดให้แห้ง โดยควรเลือกบริเวณที่ไม่มีขน และไม่โดนเสื้อผ้ารัดจนแน่น ส่วนใหญ่มักแปะที่ต้นแขนด้านนอก หน้าท้อง ก้น แผ่นหลัง หลีกเลี่ยงการแปะแผ่นยาคุมในบริเวณที่มีแผลเปิด หน้าอก และเต้านม
  4. ดึงแผ่นพลาสติกใสที่ปิดบนแผ่นยาออกเพียงซีกเดียว และแปะลงบนผิวหนัง ก่อนจะดึงแผ่นพลาสติกใสอีกซีกหนึ่งออก ระวังอย่าให้มือสัมผัสกับแผ่นยาด้านที่จะติดลงบนผิวหนัง
  5. ลูบแผ่นยาให้เนียนแนบสนิทกับผิวหนัง

คำแนะนำในการใช้แผ่นแปะยาคุม

คำแนะนำการใช้แผ่นแปะยาคุม มีดังนี้

  • หากแผ่นแปะคุมกำเนิด หลุดหรือลอกออกไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้ลองแปะแผ่นเก่าลงก่อน ถ้าไม่ได้ให้ติดแผ่นใหม่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนวันที่เปลี่ยนแผ่นใหม่ของรอบถัดไป
  • หากแผ่นแปะคุมกำเนิด หลุดหรือลอกออกนานเกิน 24 ชั่วโมง ให้แปะแผ่นใหม่ และเปลี่ยนวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ ร่วมกับใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เป็นเวลา 7 วัน เช่น การสวมถุงยางอนามัย งดมีเพศสัมพันธ์
  • หากเลยกำหนดในการเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิด หากไม่เกิน 2 วัน ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนกำหนดวันเปลี่ยนแผ่นใหม่
  • หากเลยกำหนดในการเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดเกิน 2 วัน ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ เปลี่ยนกำหนดวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ และใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน
  • สำหรับผู้ที่ลืมเปลี่ยนแผ่นแปะยาคุมแผ่นที่ 1 ควรถอดออกทันทีที่นึกได้ และยึดวันนั้นเป็นวันแปะยาคุมกำเนิดรอบใหม่ และเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดรอบถัดไปตามช่วงเวลาปกติ อีกทั้งควรงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหรือสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์
  • สำหรับผู้ที่ลืมเปลี่ยนแผ่นแปะยาคุมแผ่นที่ 3 ให้รีบแกะแผ่นยาออกทันทีที่นึกได้ และเว้น 1 สัปดาห์ เพื่อให้ประจำเดือนมา และยังคงยึดวันเปลี่ยนแผ่นแปะรอบใหม่วันเดิม
  • แผ่นแปะคุมกำเนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บเต้านม เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักเพิ่ม สิวขึ้น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หากอาการเหล่านี้มีความรุนแรงขึ้นควรพบคุณหมอทันที
  • สำหรับผู้ที่แท้งบุตร ควรเริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดทันทีหรือไม่เกิน 5 วัน หลังจากแท้งบุตร หากเกินจากนี้อาจจำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัย งดการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากภายในระยะเวลา 10 วันหลังแท้ง อาจมีการตกไข่ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงนี้อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้
  • สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรและอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวม และยาคุมกำเนิดแบบแปะ เพราะอาจรบกวนการผลิตน้ำนมให้ลูก โดยจะเริ่มใช้ได้ต่อเมื่อลูกหย่านมแล้ว
  • สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรและไม่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรเริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดหลังคลอดเร็วเกินไป หากเริ่มแปะแผ่นคุมกำเนิดเร็วเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด โดยควรเริ่มหลัง 6 สัปดาห์หลังคลอดเป็นต้นไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Contraceptive patch. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-patch/.Accessed August 4, 2022.

birth control patch. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/birth-control-patch/about/pac-20384553.Accessed August 4, 2022.

Birth Control Patch. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-transdermal-patches.Accessed August 4, 2022.

Safety, efficacy and patient acceptability of the combined estrogen and progestin transdermal contraceptive patch: a review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2770395/.Accessed August 4, 2022.

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง…ทางเลือกแทนการรับประทานยาคุมกำเนิด. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/584/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87/.Accessed August 4, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การคุมกำเนิด มีอะไรบ้าง และทำได้อย่างไร

ระยะปลอดภัย นับอย่างไร ช่วยคุมกำเนิดได้จริงหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา