backup og meta

ใส่ถุงยาง อย่างไรให้ถูกต้อง และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    ใส่ถุงยาง อย่างไรให้ถูกต้อง และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

    การ ใส่ถุงยาง ให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ผู้ชายและผู้หญิงควรเรียนรู้เอาไว้ เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังควรทำความเข้าใจข้อควรระวังในการใช้ถุงยางและการปฏิบัติตัวเมื่อถุงยางแตกด้วย

    วิธี ใส่ถุงยาง สำหรับผู้ชาย

    วิธีใส่ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายที่ถูกต้องเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อาจทำได้ดังนี้

    1.เปิดและนำถุงยางอนามัยออกจากห่ออย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการฉีกขาด ไม่ใช้กรรไกรตัดและต้องระวังในกรณีที่เล็บยาว

    2.วางถุงยางไว้บนหัวขององคชาตที่แข็งตัว

    3.บีบบริเวณปลายถุงยางเพื่อไล่อากาศออกจากปลายถุงยางอนามัย

    4.ค่อย ๆ เอามืออีกข้างคลี่ถุงยางอนามัยลงจนสุดอวัยวะเพศ

    5.หลังมีเพศสัมพันธ์ ให้จับที่ฐานถุงยางอนามัย จากนั้นค่อย ๆ ดึงออกโดยที่มือยังจับโคนถุงยางอนามัยเอาไว้ และควรเอาอวัยวะเพศชายออกจากช่องคลอดก่อนที่จะถอดถุงยางอนามัย

    6.ถอดถุงยางอนามัยออกอย่างระมัดระวัง ห่อทิชชู่และทิ้งลงถังขยะ

    วิธี ใส่ถุงยาง สำหรับผู้หญิง

    สำหรับการใส่ถุงยาอนามัยสำหรับหญิงให้ถูกต้องเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อาจทำได้ดังนี้

    1.เปิดและนำถุงยางอนามัยออกจากบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด ไม่ใช้กรรไกรตัดและต้องระวังในกรณีที่เล็บยาว

    2.ถือถุงยางอนามัยในด้านที่ถูกต้อง โดยสังเกตได้ดังนี้ ด้านที่เป็นวงแหวนด้านในปลายปิดจะใช้สำหรับใส่ในช่องคลอดและยึดถุงยางอนามัยให้เข้าที่ ส่วนวงแหวนรอบนอกจะอยู่นอกร่างกายเพื่อปิดปากช่องคลอด

    3.นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย จากนั้นบีบวงแหวนปลายปิดให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สอดเข้าช่องคลอดได้ง่ายขึ้น แล้วสอดเข้าไปในช่องคลอด คล้ายกับการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด

    4.ใช้นิ้วดันวงแหวนด้านในขึ้นจนชิดปากมดลูก ซึ่งถุงยางอนามัยจะขยายตัวตามธรรมชาติ

    5.ตรวจสอบให้แน่ใจว่าถุงยางอนามัยไม่บิดงอ และวงแหวนรอบนอกควรอยู่นอกช่องคลอด

    6.ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจสอบด้วยว่าสอดอวัยวะเพศชายเข้าไปในถุงยางถูกต้องหรือไม่ และหยุดมีเพศสัมพันธ์หากรู้สึกว่าองคชาตลื่นไถลระหว่างถุงยางอนามัยกับผนังช่องคลอด หรือหากวงแหวนรอบนอกถูกดันเข้าไปในช่องคลอด

    7.ถอดถุงยางอนามัยด้วยการบิดวงแหวนรอบนอกเบา ๆ แล้วดึงออกจากช่องคลอด จากนั้นห่อด้วยทิชชู่แล้วทิ้งลงถังขยะ

    ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

    เพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพ จึงอาจมีข้อควรระวังบางประการในการใช้ถุงยางอนามัย ดังนี้

    • ควรเปิดซองถุงยางอนามัยอย่างระมัดระวัง โดยไม่ควรฉีกซองถุงยางด้วยเล็บ ฟัน หรือของมีคม เพราะอาจทำให้ถุงยางขาดได้ และควรใส่ถุงยางให้ถูกต้องก่อนเริ่มเมื่อเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันถุงยางแตกหรือหลุด
    • ควรใช้ถุงยางชิ้นใหม่ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งใหม่
    • หากมีเพศสัมพันธ์นานกว่า 30 นาที ควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ เพราะถุงยางอาจเสื่อมสภาพจากแรงเสียดสีในระหว่างใช้งาน
    • ควรใช้ถุงยางอนามัยครั้งละ 1 ชิ้น ไม่ควรใส่ซ้อนกัน 2 ชิ้น เพราะอาจทำให้ถุงยางแตกหรือหลุดเข้าไปในช่องคลอดได้
    • ควรเก็บถุงยางอนามัยในพื้นที่เย็น เพราะความร้อนอาจทำให้ถุงยางเสื่อมสภาพลงได้
    • ควรตรวจสอบวันหมดอายุของถุงยางก่อนใช้งานเสมอ
    • ไม่ควรใช้ถุงยาอนามัยกับโลชั่น มอยเจอร์ไรเซอร์ น้ำมันนวด น้ำมันทาผิว ปิโตรเลียมเจลลี่ เพราะอาจทำให้ถุงยางเสื่อมสภาพและแตกได้
    • ควรออรัลเซ็กส์ในขณะใส่ถุงยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเข้าทางปากและคอ
    • ไม่ควรใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายร่วมกับถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง เพราะอาจทำให้ถุงยางฉีกขาดได้

    เมื่อถุงยางอนามัยแตก คงรทำอย่างไร

    เมื่อถุงยางอนามัยแตกในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือรู้ตัวหลังหลั่งน้ำอสุจิแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรก คือ การตั้งสติและให้ผู้หญิงล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศให้เรียบร้อย จากนั้นกินยาคุมฉุกเฉินทันที เพราะยิ่งกินยาคุมฉุกเฉินเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น โดยควรกินยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน

    หลังจากการกินยาคุมฉุกเฉินควรสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ อาจพบเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อย หรือประจำเดือนอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการและการตั้งครรภ์ และอาจจะปรึกษาคุณหมอในกรณีที่ต้องการตรวจเรื่องการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติมในกรณีถุงยางแตก รวมทั้งคอยสังเกตอาการของตัวเองว่ามีอาการผิดปกติใดๆหลังจากถุงยางแตกหรือไม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา