การตรวจภายใน คือ การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ทั้งภายนอกและภายในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีตรวจคัดกรองอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง เช่น ตกขาวผิดปกติ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเข้ารับการการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี หรือตามที่คุณหมอแนะนำ หากพบปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ จะได้รักษาได้ทันท่วงที
[embed-health-tool-ovulation]
การตรวจภายใน คืออะไร
การตรวจภายใน คือ การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งภายนอกและภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง เพื่อหาสัญญาณความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในอุ้งเชิงกราน เช่น
- ช่องคลอด เป็นช่องทางให้ประจำเดือนไหลออกมา และเป็นทางผ่านของอสุจิที่จะเข้าสู่มดลูก ทั้งยังเป็นช่องทางให้ทารกออกจากมดลูกเมื่อถึงกำหนดคลอดด้วย
- ปากมดลูก เป็นทางผ่านของประจำเดือน และเป็นช่องทางที่อสุจิจะเดินทางเข้าไปผสมกับไข่ในมดลูก
- มดลูก เป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วเกิดการปฎิสนธิ ไข่จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนทารกต่อไป
- รังไข่ มีหน้าที่ผลิตไข่ และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน (Progesterone)
- ท่อนำไข่ เป็นท่อเล็ก ๆ อยู่ที่มดลูกทั้งสองข้าง เชื่อมต่อระหว่างมดลูกกับรังไข่ทั้งสองข้าง ทำหน้าที่เป็นทางผ่านให้ไข่เดินทางจากรังไข่ไปสู่มดลูก
- กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่กักเก็บปัสสาวะ โดยทั่วไปจะเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 350-500 มิลลิลิตร
- ทวารหนัก ส่วนท้ายสุดของระบบขับถ่าย มีหน้าที่เป็นช่องทางขับถ่ายอุจจาระ
วัตถุประสงค์ในการตรวจภายใน
คุณหมออาจแนะนำให้ผู้หญิงตรวจภายใน เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อดูความสมบูรณ์ของครรภ์และสุขภาพคุณแม่ รวมถึงเพื่อหาสัญญาณความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม การตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจช่วยให้คุณหมอสามารถหาวิธีรักษาภาวะที่พบได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
- ตรวจวินิจฉัยโรค หากมีอาการทางนรีเวช เช่น ตกขาวผิดปกติ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดอุ้งเชิงกราน ผิวหนังเปลี่ยนแปลง หรือมีปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ คุณหมออาจให้เข้ารับการตรวจภายในร่วมกับการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค
- ตรวจคัดกรองโรค หรือประเมินสุขภาพทางนรีเวช การตรวจอุ้งเชิงกรานเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจหาสัญญาณของโรคทางนรีเวช เช่น ซีสต์รังไข่ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกในมดลูก มะเร็งปากมดลูก
ควรเริ่มตรวจภายในเมื่อไหร่ และควรตรวจบ่อยแค่ไหน
การตรวจภายในสามารถเริ่มตรวจได้เมื่ออายุ 21 ปีขึ้นไปตามคำแนะนำของทางอเมริกา หรือเมื่ออายุ 25 ปี ขึ้นไป ในรายที่มีเพศสัมพันธ์ และอายุ 30 ปี ขึ้นไป ในรายที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ร่วมกับชมรมคอลโปสโคปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย ซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกปีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางนรีเวช และควรตรวจแปปสเมียร์เป็นประจำอย่างน้อยทุก 23 ปี จนถึงอายุ 65 ปี เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไปหากผลตรวจแปปสเมียร์เป็นลบติดต่อกันอย่างน้อย 53 ครั้งภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะสามารถหยุดตรวจแปปสเมียร์ได้
ภาวะสุขภาพที่ควรเข้ารับการตรวจภายใน
หากพบว่ามีภาวะสุขภาพ หรืออาการผิดปกติดังต่อไปนี้ในระดับรุนแรง หรือมีอาการเป็นประจำหรือเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจภายในโดยเร็วที่สุด
- คัน แสบร้อน บริเวณอวัยวะเพศ และอวัยวะเพศมีกลิ่นเหม็น
- ตกขาวผิดปกติ
- เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไป
- ปวดท้องน้อย
- มีผื่น หรือติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศภายนอก
- คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย
วิธีการตรวจภายใน
วิธีการตรวจภายในที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้
-
- การตรวจด้วยสายตา คุณหมอจะสำรวจว่ามีการระคายเคือง รอยแดง แผลบริเวณอวัยวะเพศภายนอกและช่องคลอดหรือไม่
- การตรวจด้วยการสัมผัส คุณหมอจะคลำหน้าท้องพร้อมสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด และในบางกรณี อาจตรวจที่บริเวณทวารหนักด้วย
- การตรวจโดยใช้อุปกรณ์สเปคคูลั่ม (speculum) สเปคคูลั่มมีลักษณะคล้ายปากเป็ด ใช้เพื่อขยายขนาดผนังช่องคลอดเพื่อให้เห็นลักษณะภายในช่องคลอด ตกขาว และปากมดลูก การสอดอุปกรณ์นี้เข้าไปในช่องคลอดอาจทำให้ผู้หญิงบางคนรู้สึกอึดอัด แต่ควรผ่อนคลาย ไม่เกร็ง เพื่อให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยและได้ข้อมูลการตรวจที่ถูกต้อง
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) คุณหมอจะใช้อุปกรณ์สอดผ่านและถ่างขยายช่องคลอด จากนั้นป้ายเซลล์จากมดลูกไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยปกติ อาจทราบผลตรวจภายในเวลา 2-3 วัน หรือขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจภายใน
การเตรียมตัวและขั้นตอนการตรวจภายใน อาจมีดังนี้
- ควรนัดการตรวจภายใน ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด งดโกนขน และงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 วัน ก่อนเข้ารับการตรวจภายใน
- ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกให้ดี หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด และควรปัสสาวะก่อนเข้ารับการตรวจ
- เปลี่ยนใส่ชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
- ขึ้นขาหยั่ง ซึ่งเป็นเตียงสำหรับตรวจภายใน ผู้เข้ารับการตรวจภายในต้องนอนหงาย แล้วพาดขาทั้ง 2 ข้างบนขาหยั่ง ไม่เกร็งกล้ามเนื้อช่องคลอดและหน้าท้อง
- คุณหมอจะสอดคีมปากเป็ดหรือสเปคคูลั่ม (Speculum) เข้าไปในช่องคลอด เพื่อขยายช่องคลอดให้สามารถสังเกตภายในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ก่อนจะตรวจดูความผิดปกติภายในช่องคลอดและปากมดลูก
- ในรายที่ตรวจมะเร็งปากมดลูก (pap smear) ร่วมด้วยจะใช้เครื่องมือป้ายเซลล์ที่บริเวณช่องคลอดและปากมดลูกเพื่อส่งตรวจ
- คุณหมอจะถอนสเปคคูลั่มออกจากช่องคลอด แล้วสอดนิ้วมือเข้าไปในช่องคลอด พร้อมใช้นิ้วอีกข้างกดบริเวณท้องน้อยทีละตำแหน่ง เพื่อตรวจมดลูก ปีกมดลูก และอุ้งเชิงกราน
- เปลี่ยนชุด และรอผลตรวจ
การตรวจภายในโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณเพียง 5-10 นาที ระหว่างและหลังเข้ารับการตรวจภายในอาจไม่เจ็บแต่อาจรู้สึกจุกเสียดในช่องท้องเล็กน้อย แต่อาการนี้มักหายไปได้เองภายในเวลาไม่นาน