backup og meta

จุดซ่อนเร้น กับวิธีดูแลเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

จุดซ่อนเร้น กับวิธีดูแลเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

จุดซ่อนเร้น เป็นอวัยวะเพศหญิงที่ต้องการการดูแลและทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การอักเสบ ความระคายเคือง ที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด การติดเชื้อราในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งมดลูก

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุที่ต้องดูแลจุดซ่อนเร้นให้สะอาด

จุดซ่อนเร้น คือ อวัยวะเพศหญิงที่ประกอบไปด้วยอวัยวะเพศภายนอก ปากช่องคลอด ช่องคลอด ไปจนถึงปากมดลูก โดยเป้าหมายของการดูแลและทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น คือ เพื่อทำให้ช่องคลอดแห้ง สมดุล รักษาค่าความเป็นกรดด่างให้ปกติ คือ 3.8-4.5 ปราศจากสารระคายเคืองและสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอด จนเกิดเป็นปัญหาช่องคลอดอักเสบหรือโรคหลายชนิด เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งมดลูก ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ติดเชื้อราในช่องคลอด ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการบวม แดง คัน หรือแสบร้อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

วิธีทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น

ตามธรรมชาติช่องคลอดจะทำความสะอาดตัวเองในรูปแบบของการตกขาวตามปกติ เพื่อขับเอาสิ่งตกค้าง แบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ออกมา เพื่อคงความสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด สำหรับวิธีทำความสะอาดเพื่อรักษาสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้นอาจทำได้ดังนี้

  • ในขณะอาบน้ำให้ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ
  • เลือกใช้สบู่อ่อน ๆ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อลดความระคายเคือง โดยระวังไม่ให้สบู่เข้าไปในช่องคลอด
  • ใช้มือล้างทำความสะอาดบริเวณผิวภายนอกอวัยวะเพศรวมทั้งขาหนีบ และเปิดริมปากอวัยวะเพศทั้ง 2 ฝั่งออก ใช้มือล้างทำความสะอาดริมปากอวัยวะเพศด้านในทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อล้างเอาสารคัดหลั่งและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ระหว่างรอยพับออก
  • ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาดอุณภูมิปกติ
  • ซับเบา ๆ บริเวณอวัยวะเพศให้แห้งสนิท
  • ในระหว่างมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค นอกจากนั้น ไม่ควรใช้สเปรย์ฉีดที่มีส่วนผสมของน้ำหอมเข้าไปในช่องคลอด รวมถึงไม่ควรสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ

วิธีดูแลจุดซ่อนเร้นให้สุขภาพดี

การดูแลจุดซ้อนเร้นให้สุขภาพดีถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น อาจทำได้ดังนี้

  • การสวมใส่เสื้อผ้าและทำความสะอาด ควรเลือกชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยระบายอากาศและป้องกันความอับชื้น และควรซักชุดชั้นในด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและซักทันทีหลังจากเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อ เพื่อลดการสะสมแบคทีเรีย
  • การเข้าห้องน้ำและมีประจำเดือน หลังจากเข้าห้องน้ำหรือหลังจากเปลี่ยนผ้าอนามัย ควรเช็ดทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นให้สะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรียและเชื้อโรคที่ช่องคลอด
  • การกำจัดขน ควรกำจัดขนบริเวณจุดซ่อนเร้นด้วยวิธีตัดเล็มขนให้สั้น เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียและความอับชื้น
  • การมีเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำเพื่อป้องกันถุงยางเสื่อมสภาพและแตกง่าย
  • ตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี ตรวจภายใน ตรวจแปปสเมียร์  (Pap Test) และเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น เนื้องอก การอักเสบ การติดเชื้อ ที่อาจเสี่ยงก่อให้เกิดความระคายเคือง มะเร็งปากมดลูก โรคหนองใน ซิฟิลิส เริม เป็นต้น เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • ฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
  • เข้าพบคุณหมอ หากมีอาการหรือความผิดปกติบริเวณจุดซ่อนเร้น เช่น ตกขาวเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองเขียวและมีกลิ่นเหม็น คัน แสบร้อน มีตุ่ม แผล ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อตรวจอาการและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • การรับประทานอาหารสุขภาพ ควรรับประทานอาหารที่เพิ่มความสมดุลให้กับช่องคลอด เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ซึ่งมีแลคโตบาซิลลัส ที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดี ช่วยแก้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณจุดซ่อนเร้นได้อีกด้วย
  • การรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้บริเวณต้นขาด้านในอับชื้น ซึ่งจะช่วยขจัดกลิ่นในช่องคลอดได้

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการดูแลจุดซ่อนเร้น

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการดูแลจุดซ่อนเร้น ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการล้างจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุ่นมาก ๆ เพราะอาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟองน้ำหรือผ้าขัดและล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เสียดสีและระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างอาจกำจัดเอาแบคทีเรียดีในช่องคลอดออก ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ทิชชู่เปียก สบู่หรือสเปรย์ระงับกลิ่นที่มีส่วมผสมของน้ำหอมบริเวณจุดซ้อนเร้น เพื่อป้องกันความระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงซับในตอนนอนหรือสวมเสื้อผ้ารัดแน่น เพราะอาจทำให้จุดซ่อนเร้นอับชื้น ไม่ระบายอากาศ เกิดการเสียดสี จนอักเสบและระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการใส่แผ่นอนามัยเมื่อไม่มีประจำเดือนและไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะการใส่ผ้าอนามัยอาจทำให้จุดซ่อนเร้นอับชื้น เสียดสีและระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการระคายเคืองช่องคลอด หรืออยู่ในระหว่างการรักษา ควรรอให้การรักษาเสร็จสิ้นจนอาการดีขึ้น เพื่อป้องกันการอักเสบและการติดเชื้อซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการโกนหรือแว็กซ์ขนที่อวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนและไม่ใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการใช้สารหล่อลื่นชนิดน้ำมันเพราะอาจทำให้ถุงยางเสื่อมสภาพและแตกง่าย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Keeping your vagina clean and healthy. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/keeping-your-vagina-clean-and-healthy/. Accessed January 19, 2022

The care and keeping of your vagina. https://www.ohsu.edu/womens-health/care-and-keeping-your-vagina. Accessed January 19, 2022

How can I stay healthy down there?. https://www.thewomens.org.au/health-information/vulva-vagina/your-vulva-vagina/how-can-i-stay-healthy-down-there. Accessed January 19, 2022

Vulvar and Vaginal Care and Cleaning. https://youngwomenshealth.org/2017/04/19/vulvar-and-vaginal-care-and-cleaning/. Accessed January 19, 2022

You don’t need fancy products for good feminine hygiene. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/you-dont-need-fancy-products-for-good-feminine-hygiene. Accessed January 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คันอวัยวะเพศหญิงภายนอก อาการ สาเหตุ และการรักษา

มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา