backup og meta

จูบกัน มีประโยชน์ และความเสี่ยงอย่างไร

จูบกัน มีประโยชน์ และความเสี่ยงอย่างไร

การจูบ นอกจากจะเป็นการแสดงความรักและช่วยกระชับความสัมพันธ์แล้ว ยังอาจมีประโยชน์ทางสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยทำลายคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก และส่งเสริมสุขภาพจิต ในขณะเดียวกันการจูบกันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดได้ ดังนั้นควรศึกษาวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ประโยชน์ของการจูบกัน กับคนรัก

ประโยชน์ของการ จูบกัน กับคนรัก มีดังนี้

  • มีสุขภาพจิตที่ดี การจูบอาจกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีแห่งความสุข เช่น ออกซิโตซิน (Oxytocin) เซโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) ทำให้ผ่อนคลาย ลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้
  • ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักไปในทางที่ดี คู่รักที่แสดงความรักด้วยการจูบกันอาจทำให้เกิดความผูกพันธ์ ความใกล้ชิด ทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจูบยังกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศอีกด้วย
  • เผาผลาญแคลอรี่ การจูบกันแต่ละครั้งอาจช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ 8-16 กิโลแคลอรี่ เนื่องจากขณะที่จูบอาจมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศก่อนมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นยิ่งจูบอย่างร้อนแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้มีการสูบฉีดเลือดที่ดี ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการปวดหัว และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  • เพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการแพ้ การจูบกันอาจทำให้ได้รับแบคทีเรียที่ดีที่อยู่ในช่องปากของคู่รัก ทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการลมพิษ และอาการแพ้จากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น เกสรดอกไม้ ลมพิษ ไรฝุ่น และช่วยลดความเครียดที่อาจเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้อาการแพ้แย่ลง
  • ป้องกันฟันผุ การจูบกันอาจช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากขึ้น ช่วยในการกลืน และช่วยให้เศษอาหารไม่ติดฟัน ซึ่งอาจช่วยป้องกันฟันผุได้
  • ใบหน้ากระชับ การจูบอาจมีความสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อใบหน้าประมาณ 2-34 มัด การจูบบ่อย ๆ ทำให้มีการขยับใบหน้าและใช้กล้ามเนื้อในส่วนนี้เป็นประจำ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่งผลให้ใบหน้ากระชับ ชะลอการเกิดริ้วรอยที่ดูแก่กว่าวัย

5 วิธี จูบกัน ที่อาจช่วยเพิ่มความสุข

สำหรับวิธีจูบที่อาจช่วยเพิ่มความสุขได้มีดังนี้

  1. ได้รับการยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย การจูบกันให้มีความสุขควรได้รับการยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยอาจถามความต้องการอีกฝ่าย ที่จะโน้มตัวเข้าและเริ่มจูบแบบอ่อนโยนหรือรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่ต้องการแสดงออก
  2. จูบโดยใช้ลิ้น เป็นการใช้ลิ้นสอดเข้าไปในปากของอีกฝ่ายอย่างช้า ๆ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ก่อนนำไปสู่การจูบอย่างร้อนแรง
  3. ให้ความสำคัญกับคู่ที่อยู่ตรงหน้า เพื่อสังเกตความพึงพอใจในการจูบของอีกฝ่าย เช่น มีการส่งเสียงครางเบา ๆ วิธีโน้มตัวเข้าหา ในกรณีที่อีกฝ่ายถอยออกไป อาจจะต้องถอยออกมาเพื่อดูว่า คู่รักยังอยากที่จะจูบต่อหรือไม่
  4. ใช้มือลูบไล้ร่างกายและใบหน้าขณะจูบ เพื่อสร้างความโรแมนติกให้คู่รักและทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ขณะจูบกันอาจลูบไล้ร่างกาย ริมฝีปาก ใบหน้าด้วยความอ่อนโยนหรือรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่าย
  5. กัดริมฝีปากเบา ๆ การกัดริมฝีปากขณะจูบและมองตากันเล็กน้อยอาจทำให้รู้สึกตื่นเต้น และมีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจวัดได้จากการตอบสนองของอีกฝ่าย

ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจมาพร้อมกับการจูบ

การจูบกันอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของแบคทีเรีย ไวรัส จากคนสู่คน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากภาวะต่าง ๆ ดังนี้

  • ไข้หวัดและโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อของไวรัสที่ติดต่อได้จากการสัมผัสเชื้อผ่านทางเดินหายใจส่วนบน เช่น การสูดลมหายใจ สัมผัสกับสารคัดหลั่ง ซึ่งสังเกตได้จากอาการไอ มีไข้ หนาวสั่น น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ
  • ไวรัสตับอักเสบบี แม้จะไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม แต่อาจเกิดการติดเชื้อเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น อสุจิ เลือด น้ำลาย ดังนั้นการจูบกันอาจทำให้อีกฝ่ายได้รับเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย อาเจียน ปวดข้อ มีไข้ ปัสสาวะสีเข้ม สีผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือดีซ่าน
  • หูด มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือเป็นแผล ที่อาจเกิดขึ้นได้บนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า อวัยวะเพศ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr) บริเวณต่อมน้ำเหลือง อาจส่งผลให้คอบวม มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำมูกไหล เจ็บคอ
  • โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ และสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย การใช้สิ่งของร่วมกัน การจูบกัน สัมผัสกับผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการคันและมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ช่องปาก
  • ฟันผุ การจูบอาจทำให้ได้รับแบคทีเรียชนิดไม่ดี ที่ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ เช่น สเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) พอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส (Porphyromonas Gingivalis)
  • ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซเรีย เมนิงไจไทดิส (Neisseria Meningitidis) เป็นโรคร้ายแรงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากแบคทีเรียนี้อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อบุสมอง ไขสันหลัง หากสังเกตว่ามีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนกะทันหัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที

วิธีป้องกันการติดเชื้อจากการจูบกัน

วิธีป้องกันการติดเชื้อจากการจูบ อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการจูบหากทราบว่าคู่รักกำลังป่วย หรือเป็นโรคติดต่อ
  • ปิดปากขณะไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของละอองน้ำลายในอากาศ
  • รักษาสุขอนามัยช่องปาก ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ
  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี อีสุกอีใส การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What’s So Great About Kissing?. https://www.webmd.com/sex-relationships/features/kissing-benefits . Accessed January 24, 2022

This is why we should all spend more time kissing. https://www.bbc.co.uk/programmes/articles/9NMjj64PPDpBN4rHlVjWzR/this-is-why-we-should-all-spend-more-time-kissing . Accessed January 24, 2022

We Asked 14 People How to Make Kissing Even Better.  https://www.self.com/story/best-kissing-advice . Accessed January 24, 2022

Kissing and your health. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/kissing-and-your-health . Accessed January 24, 2022

8 health benefits of kissing. https://edition.cnn.com/2014/01/14/health/upwave-kissing/index.html . Accessed January 24, 2022

7 reasons why kissing is good for health and why we should kiss more often https://www.hindustantimes.com/health/international-kissing-day-2020-7-reasons-why-kissing-is-good-for-health-and-why-we-should-kiss-more-often/story-2VwUetiBhcU5r0XCk1pc2J.html . Accessed January 24, 2022

Flu. https://medlineplus.gov/flu.html . Accessed January 24, 2022

Hepatitis B. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hepatitis-b/symptoms-causes/syc-20366802 . Accessed January 24, 2022

How to get rid of warts. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/how-to-get-rid-of-warts . Accessed January 24, 2022

Swollen lymph nodes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/swollen-lymph-nodes/symptoms-causes/syc-20353902 . Accessed January 24, 2022

Meningococcal disease https://www.cdc.gov/meningococcal/index.html . Accessed January 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/01/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

มีเพศสัมพันธ์บ่อย เซ็กส์จัด เป็นอันตรายรึเปล่า

จุดซ่อนเร้น ของผู้หญิงและผู้ชาย ควรดูแลอย่างไรหลังการมีเพศสัมพันธ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา