ช่องคลอดแห้ง เป็นภาวะที่ภายในช่องคลอดขาดเมือกหล่อลื่น ทำให้เยื่อบุช่องคลอดแห้งและขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง แสบร้อนบริเวณช่องคลอด และปวดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอด ภาวะนี้พบได้บ่อยในวัยหมดประจำเดือน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
ช่องคลอดแห้ง คืออะไร
ช่องคลอดแห้ง คือ ภาวะที่ช่องคลอดขาดเมือกหล่อลื่นหรือมีเมือกหล่อลื่นน้อยลง ส่งผลให้ช่องคลอดสูญเสียความชุ่มชื้นและแห้ง ภาวะนี้พบได้ในผู้หญิงทุกวัย แต่อาจพบมากในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากการที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมน โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยผลิตเมือกหล่อลื่นช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดชุ่มชื้น เยื่อบุช่องคลอดยืดหยุ่นได้ดี และช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดให้ช่องคลอด
ช่องคลอดแห้งพบบ่อยแค่ไหน
ช่องคลอดแห้งพบได้ในผู้หญิงทุกวัย แต่มักพบในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจนส่งผลต่อการผลิตเมือกหล่อลื่นในช่องคลอด
อาการ
อาการของช่องคลอดแห้ง
ภาวะช่องคลอดแห้ง อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ระคายเคืองช่องคลอด
- คัน หรือปวดแสบปวดร้อนที่ช่องคลอด
- เจ็บ หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ความชื้นในช่องคลอดลดลง
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
นอกจากนี้ ภาวะช่องคลอดแห้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะช่องคลอดติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อรา การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งควรรีบเข้ารับการรักษาทันที
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากอาการที่กล่าวมาข้างต้นรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในตอนกลางคืนแม้อยู่ในห้องแอร์ อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลียง่าย สิวขึ้น ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุ
สาเหตุของช่องคลอดแห้ง
ช่องคลอดแห้งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง จนอาจส่งผลให้เมือกหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง และช่องคลอดแห้งได้
- การคลอดลูกหรือให้นมแม่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเปลี่ยนแปลงและลดลง จึงอาจทำให้ช่องคลอดแห้งชั่วคราว
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ อาจทำให้ช่องคลอดแห้งชั่วคราว หากหยุดรับประทานยาดังกล่าว ช่องคลอดอาจกลับมาชุ่มชื้นตามปกติ
- การผ่าตัดรังไข่ เนื่องจากรังไข่เป็นที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน หากตัดรังไข่ออก ก็อาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งคอยสร้างความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของช่องคลอดแห้ง
ปัจจัยต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้
- ไม่เล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือเล้าโลมน้อยเกินไป
- สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นบ่อย
- แช่น้ำอุ่นบ่อย
- เครียดจัด
- สูบบุหรี่
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า โรคผิวหนังบริเวณช่องคลอด
- เข้ารับการรักษามะเร็งด้วยวิธีบางอย่าง เช่น เคมีบำบัด ผ่าตัด
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยช่องคลอดแห้ง
คุณหมออาจวินิจฉัยภาวะช่องคลอดแห้งด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ อาการ และพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น รับประทานยาอะไรหรือไม่ มีการสวนล้างช่องคลอดบ่อยแค่ไหน และอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่
- การตรวจภายใน เพื่อตรวจสอบว่าลักษณะของเยื่อบุช่องคลอดเป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น เยื่อบุบางลง มีรอยแดง หรือสารคัดหลั่งที่ลดปริมาณลง ร่วมกับการตรวจความเป็นกรดด่างของช่องคลอด
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) โดยคุณหมอจะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดสอดเข้าไปเพื่อให้เห็นปากมดลูก จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุปากมดลูกไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูความผิดปกติของเซลล์ การอักเสบ การติดเชื้อ โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
การรักษาช่องคลอดแห้ง
ช่องคลอดแห้งอาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การใช้สารหล่อลื่น
เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่ควรเลือกสารหล่อลื่นที่ไม่มีน้ำหอมเป็นส่วนผสม เพื่อป้องกันช่องคลอดระคายเคือง หรือการใช้เจลหล่อลื่น (Vaginal moisturizer) เพื่อหล่อลื่นช่องคลอด ลดอาการแห้ง คัน
การให้ฮอร์โมนทดแทน
เป็นการบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉพาะที่ ซึ่งอาจมีรูปแบบดังต่อไปนี้
- ยาสอดช่องคลอด โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา ให้ใช้ยาสอดช่องคลอดวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นจึงลดความถี่ในการใช้ยาลงเหลือ 2 ครั้ง/สัปดาห์ และใช้ยาต่อเนื่องจนกว่าช่องคลอดจะกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง
- ครีมเอสโตรเจน โดยใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อทาครีม ควรทาครีมทุกวันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงลดความถี่ในการใช้ยาลงเหลือ 1-3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- วงแหวนสอดช่องคลอด โดยคุณหมอจะสอดวงแหวนที่อ่อนนุ่มและยืดหยุ่นเข้าไปในช่องคลอด วงแหวนนี้จะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่เนื้อเยื่อช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ วงแหวนสอดช่องคลอดออกฤทธิ์ได้ประมาณ 3 เดือน จึงควรเปลี่ยนทุก ๆ 3 เดือนจนกว่าภาวะช่องคลอดแห้งจะดีขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรักษาหรือป้องกันการเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอมในการทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เครียด หากรู้สึกเครียดควรทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง
- หากมีเพศสัมพันธ์ควรมีการเล้าโลมก่อน หรือควรใช้สารหล่อลื่นแบบน้ำเพื่อช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้นและลื่นเพียงพอ