backup og meta

ตกขาวเป็นก้อนแป้ง เกิดจากอะไร วิธีรักษาและดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    ตกขาวเป็นก้อนแป้ง เกิดจากอะไร วิธีรักษาและดูแลตัวเอง

    ตกขาวเป็นก้อนแป้ง เป็นภาวะตกขาวผิดปกติที่อาจเกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา แอลบิแคนส์ (Candida albicans) เนื่องจากมีเชื้อราชนิดนี้บริเวณช่องคลอดมากจนเสียสมดุล การติดเชื้อรานอกจากจะทำให้มีตกขาวเป็นก้อนแป้งคล้ายยีสต์หรือชีสคอตเทจแล้ว ยังมักทำให้รู้สึกคันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอดด้วย ตกขาวที่เกิดจากเชื้อราส่วนใหญ่จะไม่มีกลิ่น และสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยารักษาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นและใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

    ตกขาวเป็นก้อนแป้ง เกิดจากสาเหตุใด

    ตกขาวเป็นก้อนแป้ง อาจเกิดจากการติดเชื้อราบริเวณช่องคลอด เชื้อราชนิดที่พบได้บ่อยมีชื่อว่า แคนดิดา แอลบิแคนส์ ซึ่งเป็นเชื้อราประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดร่วมกับเชื้อราชนิดอื่น ๆ แต่หากมีปัจจัยมากระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณจนเสียสมดุล ก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและเกิดภาวะตกขาวผิดปกติได้

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ตกขาวเป็นก้อนแป้ง มีดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด อาจกระทบต่อสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องคลอด
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือการใช้ยาที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น สเตียรอยด์ เคมีบำบัด
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือใช้ยาฮอร์โมนที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในช่องคลอดหลังจากมีประจำเดือน หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
  • อาการเมื่อ ตกขาวเป็นก้อนแป้ง

    อาการอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการตกขาวเป็นก้อน อาจมีดังนี้

    • รู้สึกคันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอด
    • รู้สึกแสบร้อนโดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ
    • บริเวณอวัยวะเพศบวมหรือแดง
    • ปวดเมื่อยบริเวณบริเวณอวัยวะเพศ
    • เกิดผื่นคันบริเวณอวัยวะเพศ
    • มีตกขาวสีขาวเหนียวข้น จับเป็นก้อนแป้ง เหมือนคราบนมหรือชีส

    วิธีการรักษาเมื่อ ตกขาวเป็นก้อนแป้ง

    การรักษาอาการตกขาวเป็นก้อนแป้งส่วนใหญ่จะรักษาตามระดับความรุนแรงและความถี่ของการติดเชื้อ ดังนี้

    อาการเล็กน้อยถึงปานกลางและติดเชื้อไม่บ่อย

    • การรักษาระยะสั้น คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) อิทราโคนาโซล (Itraconazole) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ในรูปแบบครีมทา ยาเม็ด หรือยาสอด เป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการและยับยั้งการเกิดเชื้อรา
    • การรับประทานยาแบบครั้งเดียว คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น ฟลูโคนาโคล (fluconazole) อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ไม่แนะนำกับผู้หญิงตั้งครรภ์ หากมีอาการรุนแรงขึ้น อาจต้องรับประทานยา 2 เม็ด ห่างกัน 3 วัน

    อาการรุนแรงหรือติดเชื้อบ่อย

    • การรักษาระยะยาว คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาต้านเชื้อราทุก ๆ 3 วัน ทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนปรับมาใช้ยาสัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 6 เดือน
    • การรักษาด้วยยารับประทานหลายชนิด คุณหมออาจสั่งยาต้านเชื้อรา 2-3 ชนิดให้รับประทานแทนการรักษาทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงตั้งครรภ์

    ในบางกรณี หากมีอาการรุนแรง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราทั่วไป คุณหมออาจรักษาด้วยการสอดกรดบอริกแบบแคปซูลเข้าไปทางช่องคลอด ส่วนใหญ่แล้ว เชื้อราก่อโรคที่พบในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่แคนดิดา แอลบิแคนส์ (Candida albicans) อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ใช้รักษาเฉพาะเชื้อราแคนดิดาที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อราปกติเท่านั้น และไม่ควรนำเข้าปากหรือรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และวิธีการดูแลตัวเอง

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้ตกขาวเป็นก้อนแป้ง มีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดหรือการทำความสะอาดช่องคลอดด้วยการฉีดน้ำเปล่าหรือน้ำยาฆ่าเชื้อราเข้าไปในช่องคลอด เพราะอาจไปลดปริมาณแบคทีเรียดีในช่องคลอดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อราได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอนามัยแบบสอดเพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและติดเชื้อโรคได้
    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือแช่น้ำอุ่นนานเกิน 15 นาที
    • รับประทานยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น และอาจลดการใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อเป็นไข้หวัดธรรมดาหรือติดเชื้อไวรัส
    • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำ เสื้อผ้าเปื้อนเหงื่อ หากเสื้อผ้าเปียกควรเปลี่ยนใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการอับชื้น
    • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้ระคายเคือง เหงื่อออก และอับชื้นได้
    • สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดตกขาวเป็นก้อน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา