ทำนม หมายถึง การศัลยกรรมหน้าอกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยการผ่าตัดบริเวณหน้าอกแล้วนำถุงซิลิโคนใส่เข้าไป โดยทั่วไป การทำนมจะใช้เวลาประมาณ 1.30- 2 ชั่วโมง ไม่รวมระยะเวลานอนพักฟื้นอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง หลังผ่าตัด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณแผลผ่าตัดและมีรอยแผลเป็นเล็กน้อยก่อนจะค่อย ๆ จางหายไป นอกจากนั้น อาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจทำนม ควรศึกษาข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งหาข้อมูลของสถานพยาบาลว่าได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลัง
[embed-health-tool-ovulation]
ทำนม คืออะไร
ทำนม หมายถึง การทำศัลยกรรมหน้าอกโดยการผ่าตัดบริเวณหน้าอก อาจเป็นใต้ราวนม ด้านข้างรักแร้ หรือปานนม แล้วนำถุงซิลิโคนซึ่งมักมีให้เลือกสองชนิด คือ ถุงซิลิโคนน้ำเกลือและถุงซิลิโคนเจลเข้าไปในเต้านม เพื่อทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น หรือมีลักษณะเต้านมที่ได้รูปดูเป็นทรงสวยงามตามที่ต้องการ
โดยทั่วไป เหตุผลของผู้ที่ตัดสินใจทำนม ได้แก่ ไม่พอใจกับขนาดหน้าอกตัวเอง มีขนาดเต้านม 2 ข้างไม่เท่ากัน ขาดความมั่นใจในการแต่งตัว มีหน้าอกเล็กลงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การลดน้ำหนัก
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ ทำนม
ก่อนตัดสินใจผ่าตัดเสริมขนาดหน้าอก ควรศึกษาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังนี้
- การเสริมหน้าอกช่วยป้องกันหน้าอกหย่อนคล้อยหรือไม่ จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อยต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบเฉพาะเพื่อกำจัดผิวหนังส่วนเกินและทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ หน้าอกตึงขึ้น จึงจะสามารถยกหน้าอกให้ได้รูปและกระชับขึ้น
- หลังเสริมหน้าอกแล้วจะ พบปัญหาในการให้นมบุตรจริงหรือไม่ หากการผ่าตัดทำนมไม่มีการตัดท่อน้ำนมหรือเสริมแต่งบริเวณปานนม ก็สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ และปริมาณน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับการดูดกระตุ้นของบุตร รวมทั้งการรับประทานอาหารและการดื่มน้ำที่เพียงพอ
- ผู้ที่เสริมหน้าอก จะตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองได้ยากขึ้นหรือไม่ จริง ๆ แล้วสามารถตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองได้เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้เสริมหน้าอก แต่วิธีการคลำบริเวณหน้าอกอาจแตกต่างไปจากเดิม หลังการเสริมหน้าอกอาจให้คุณหมอที่ผ่าตัดช่วยแนะนำวิธีการคลำเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองสำหรับผู้ที่เสริมหน้าอกโดยเฉพาะ และหากสงสัยว่าตนเองอาจเสี่ยงมะเร็งเต้านม อาจต้องใช้วิธีตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยวิธีอื่น ได้แก่ แมมโมแกรม (Mammogram) และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
- เมื่อเสริมหน้าอกแล้ว จะทำให้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีทำแมมโมแกรมยากขึ้นจริงหรือไม่ จริง ๆ แล้วคุณหมอมีวิธีตรวจเฉพาะที่ไม่ได้ทำให้ยุ่งยากแต่อย่างใด ที่สำคัญ ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ควรตรวจหามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะผู้ที่ทำนมควรตรวจหามะเร็งเต้านมหลังจากการผ่าตัดผ่านไปประมาณ 3 ปี โดยแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคุณหมอให้ทราบว่าหน้าผ่านการเสริมหน้าอกหรือทำนมมา
- การเสริมหน้าอก 1 ครั้ง หน้าอกจะคงรูปตลอดไป จริงหรือไม่ จริง ๆ แล้ว ถุงซิลิโคนโดยเฉพาะวัสดุด้านในไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำเกลือหรือถุงเจลมักมีอายุใช้งานประมาณ 10 ปี แต่ในบางรายอาจสามารถใช้ได้นาน 20 ปี ในขณะที่ถุงซิลิโคนด้านนอกที่ห่อหุ้มถุงน้ำเกลือหรือเจลจะมีอายุนานกว่านั้นโดยอาจอยู่ได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม โอกาสแตกรั่วของถุงซิลิโคนย่อมเกิดขึ้นได้หากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณหมอที่ผ่าตัดไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ
ขั้นตอนการทำนมเป็นอย่างไร
การผ่าตัดเสริมหน้าอก อาจดำเนินการที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- คุณหมอจะให้ผู้ที่ต้องการทำนมดมยาสลบก่อนผ่าตัด ในกรณีเป็นการผ่าตัดซึ่งทำขณะที่ตื่น คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณหน้าอกแล้วค่อยดำเนินการผ่าตัด
- คุณหมออาจเลือกผ่าบริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยสอบถามความต้องการของผู้ที่ต้องการทำนมก่อนผ่าตัด ได้แก่ บริเวณใต้ราวนมรักแร้ หรือปานนมแล้วจึงนำถุงซิลิโคนใส่เข้าไปข้างในเต้านม
- แยกเนื้อเยื่อเต้านมออกจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสอดถุงซิลิโคนเข้าไปในเต้านม ทั้งนี้ หากเป็นถุงซิลิโคนน้ำเกลือ คุณหมอจะสอดถุงซิลิโคนเปล่า ๆ เข้าไปในเต้านมก่อน แล้วค่อยเติมน้ำเกลือเข้าไป ขณะที่ถุงซิลิโคนเจลจะมีเจลบรรจุข้างในอยู่ก่อนแล้ว
- เมื่อเสริมเต้านมและตรวจสอบตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะเย็บปิดแผล
โดยทั่วไป การทำนมจะใช้เวลาประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง และใช้เวลาพักฟื้นจากยาสลบประมาณ 3-4 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงที่น่ากังวลจากการผ่าตัด คนไข้สามารถกลับบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักค้างคืน
การดูแลตัวเองหลังจากการ ทำนม
หลังจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- สวมเสื้อชั้นในสำหรับเล่นกีฬา หรือ สปอร์ตบรา หรือใช้ผ้าพันหน้าอกสม่ำเสมอ เพื่อประคองหน้าอก และลดแรงสั่นสะเทือนขณะเคลื่อนไหว ที่อาจกระทบบาดแผล
- รับประทานยาแก้ปวดที่คุณหมอจ่ายให้ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของแผลผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการใช้แรงหรือทำงานหนัก หรือการขับรถทุกชนิด เป็นเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
- งดอาบน้ำด้วยการแช่น้ำ รวมถึงการเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ เพื่อป้องกันแผลผ่าตัดเน่า
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่คลินิกหรือสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ
ทั้งนี้ คุณหมอจะนัดเข้าไปตรวจสอบสภาพแผลผ่าตัดในวันที่ 7 หลังจากการผ่าตัด และทำการตัดไหม โดยทั่วไป ร่างกายของผู้ที่ผ่าตัดทำนม มักฟื้นตัวภายใน 6-8 สัปดาห์ หลังจากการผ่าตัด บางรายอาจเร็วหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของแต่ละคน
ผลข้างเคียงที่พบหลังการผ่าตัด ทำนม
หลังจากการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ ประกอบด้วย
- อาการเจ็บปวดบริเวณหน้าอก
- เต้านมอักเสบหรือบวม
- แผลเป็นบริเวณที่ผ่าตัดจะค่อย ๆ จางลง แต่จะไม่หายไปโดยสมบูรณ์
- อาจติดเชื้อ อาจทำให้เป็นไข้ รวมถึงมีอุณหภูมิบริเวณหน้าอกสูงกว่าปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาสลบ
- ภาวะพังผืดหดรัดบริเวณแผลผ่าตัดเมื่อร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว
- การแตกหรือรั่วของถุงซิลิโคนน้ำเกลือหรือซิลิโคนเจลซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ การทำนมอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองซึ่งเรียกว่า เต้านมเทียมกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยอาการที่เจอได้ ประกอบด้วยเต้านมเปลี่ยนรูปร่าง เต้านมบวม หรือมีก้อนบวมบริเวณเต้านม ทั้งนี้ เต้านมเทียมกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจพบในช่วง 2-8 ปีหลังจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก แต่พบได้น้อยมาก