backup og meta

ทำหมันแล้วประจำเดือนไม่มา ผิดปกติหรือไม่

ทำหมันแล้วประจำเดือนไม่มา ผิดปกติหรือไม่

การทำหมันหญิง เป็นวิธีคุมกำเนิดถาวร ซึ่งจัดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง และไม่ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของมดลูก จึงมักไม่ส่งผลต่อประจำเดือน แต่หากพบว่า ทำหมันแล้วประจำเดือนไม่มา อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด การพักผ่อนน้อย ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ การตั้งครรภ์นอกมดลูก

หากประจำเดือนไม่มาหลายเดือน และปรับพฤติกรรมแล้วประจำเดือนก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะประจำเดือนไม่มา และรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

ทำหมันแล้วประจำเดือนไม่มา ผิดปกติหรือไม่

การทำหมันหญิงเป็นวิธีคุมกำเนิดถาวรด้วยการผูกท่อนำไข่ทั้งสองข้างและตัดท่อนำไข่บางส่วนออก เพื่อไม่ให้ไข่เดินทางไปที่มดลูกและป้องกันไม่ให้อสุจิเดินทางเข้ามาผสมกับไข่ได้ ทั้งนี้ การทำหมันหญิงไม่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกาย ฮอร์โมนเหล่านี้จึงไปกระตุ้นให้เยื่อบุผนังมดลูกหนาขึ้น และหลุดลอกออกเป็นประจำเดือนในทุก ๆ เดือนเช่นเดิม

การที่ ทําหมันแล้วประจําเดือนไม่มา1เดือน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการทำหมัน แต่อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจมีดังนี้

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก การทำหมันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ หากหลังทำหมันแล้วท่อนำไข่ที่ถูกผูกไว้กลับมาเชื่อมเข้าหากัน ก็อาจทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ และตัวอ่อนอาจฝังตัวอยู่บริเวณท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งแทนที่จะเข้าไปฝังตัวโพรงมดลูก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา
  • ความเครียด ความเครียดทางจิตใจอาจกระทบต่อการทำงานของร่างกายและระดับฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH) ที่กระตุ้นให้ไข่ในรังไข่เจริญเติบโต เมื่อเครียดจัด จึงส่งต่อการหลั่งฮอร์โมนดังกล่าว และอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
  • ภาวะน้ำหนักตัวมากเกินไป เมื่อมีน้ำหนักตัวเยอะ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงเพิ่มขึ้นด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อความถี่ของประจำเดือน ทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
  • การออกกำลังกายหักโหม การออกกำลังกายอย่างหักโหมจะทำให้สูญเสียไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของเมแทบอลิซึม (Metabolism) หรือกระบวนการสังเคราะห์พลังงานของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายหยุดการปล่อยไข่เพื่อประหยัดพลังงาน ทำให้ประจำเดือนไม่มา
  • การพักผ่อนน้อย การนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุลและอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดได้
  • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) ถุงน้ำในรังไข่อาจส่งผลให้ไข่ไม่ตกหรือเซลล์ไข่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน และอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา

แม้ว่าจะมีการทำหมันไปแล้วก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ โดยมักพบใน 2 กรณี ได้แก่ แพทย์ที่ทำหมันไปตัดหรือผูกส่วนอื่นที่ไม่ใช่ท่อรังไข่ แต่ปัจจุบันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือท่อรังไข่ไปเชื่อมต่อกันเอง หรือมีรูที่เข้าไปในช่องท้องจนทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ทั้งในและนอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุนี้

การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนไม่มา

การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนไม่มา อาจทำได้ดังนี้

  • ไม่ควรปล่อยให้เครียดสะสม พยายามลดความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจหรือช่วยคลายเครียดได้ดี เช่น การฝึกลมหายใจ การทำงานอดิเรกที่สนใจ การออกกำลังกายเบา ๆ อาจช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ
  • ลดกิจกรรมที่หนักเกินไป เช่น การออกกำลังกายที่หนักและหักโหมเกินไป การทำกิจกรรมที่ต้องฝึกอย่างเข้มงวดอย่างบัลเลต์ ที่อาจส่งผลให้ไขมันในร่างกายต่ำและเกิดความเครียด จนอาจมีส่วนทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ ควรเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายหรือหยุดพักสักระยะ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว
  • นอนหลับให้เพียงพอ อาจช่วยให้ร่างกายได้ใช้เวลาในช่วงที่นอนหลับผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เพื่อซ่อมแซ่มร่างกายได้อย่างเต็มที่ และทำให้ระดับฮอร์โมนสมดุล อาจช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

หาก ทำหมันแล้วประจำเดือนไม่มา หลายเดือน และมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น อาการแพ้ท้อง เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม ควรใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็มีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์ทั้งในและนอกมดลูกได้ หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจภายในเพิ่มเติมและรับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stopped or missed periods. https://www.nhs.uk/conditions/stopped-or-missed-periods/.  Accessed June 23, 2022

Tubal Sterilization (Tubal Ligation). https://familydoctor.org/tubal-sterilization/. Accessed June 23, 2022

Birth Control and Sterilization. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-sterilization. Accessed June 23, 2022

Female sterilization. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-sterilisation/. Accessed June 23, 2022

Menstrual cycle: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/menstrual-cycle/art-20047186. Accessed June 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ มีสาเหตุจากอะไร

การทำหมันหญิง กับข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา