backup og meta

อาการคนท้องแรกๆ กับวิธีการสังเกต

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 07/07/2022

    อาการคนท้องแรกๆ กับวิธีการสังเกต

    อาการคนท้องแรกๆ อาจสังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ประจำเดือนขาด เหนื่อยล้าง่ายกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการแตกต่างกันออกไปหรือบางคนอาจไม่มีอาการคนท้องใด ๆ ปรากฏเลย แต่หากสงสัยว่าตั้งครรภ์สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยชุดตรวจครรภ์ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือเข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมอ เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำขึ้น

    อาการคนท้องแรกๆ มีอะไรบ้าง 

    อาการคนท้องแรกๆ ที่อาจสังเกตได้ มีดังนี้

  • ประจำเดือนขาด หากประจำเดือนขาดตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีภาวะประจำเดือนผิดปกติอยู่แล้ว แนะนำให้เข้าพบคุณหมอ เพื่อดูว่าอาการประจำเดือนขาดที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด
  • มีเลือดล้างหน้าเด็ก เป็นเลือดสีชมพูจาง ๆ ปริมาณน้อยกว่าประจำเดือน มีประมาณ 1-2 วันและหายไป
  • ตกขาวผิดปกติ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้มีตกขาวมากผิดปกติ ลักษณะของตกขาวเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีม ไม่มีกลิ่น ซึ่งถือว่าเป็นสภาวะปกติไม่มีอันตราย แต่หากตกขาวเป็นสีเหลือง สีเขียว มีอาการคันและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ควรเข้าพบคุณหมอ ทั้งนี้ ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้อับชื้นหรือติดเชื้อ
  • เหนื่อยล้า ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน จึงควรนอนหลับหรือพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ การตั้งครรภ์อาจทำให้โลหิตจางเพราะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก จนทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียได้ง่ายขึ้น แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น คะน้า ผักโขม เนื้อหมู ไก่ ปลา เพราะอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
  • เต้านมเปลี่ยนแปลง เต้านมอาจขยายใหญ่ขึ้น บวม นุ่ม และไวต่อการสัมผัส ทั้งยังอาจมีอาการคัดตึงเต้านม ซึ่งเป็นกระบวนการของร่างกายที่เตรียมพร้อมในการสร้างน้ำนม การสวมเสื้อชั้นในที่กระชับหน้าอกได้ดีและสวมสบาย อาจช่วยบรรเทาอาการได้ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ท้อง ซึ่งมักเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แต่อาการแพ้ท้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการรุนแรง บางคนอาจไม่พบอาการ การรับประทานน้ำขิง อาจช่วยขับลมในท้อง ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ ควรประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อให้กระเพาะย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ และดื่มน้ำเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ไวต่อกลิ่น เมื่อตั้งครรภ์ จมูกจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดเป็นพิเศษ ทำให้อาจรู้สึกเหม็นหรือไม่ชอบกลิ่นบางชนิด เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำอาจกลายเป็นกลิ่นเหม็น เหม็นกลิ่นอาหารที่ชอบ อาจต้องหลีกเลี่ยงกลิ่นที่ไม่พึ่งประสงค์ เพราะอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้
  • ปัสสาวะบ่อย ระดับของเหลวและปริมาณเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้น ทำให้ไตกรองของเสียในเลือดและน้ำส่วนเกินออกมาเป็นปัสสาวะมากขึ้น จึงอาจถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ หงุดหงิด โมโหง่าย 
  • อย่างไรก็ตาม อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่เกิดขึ้นเฉพาะแค่การตั้งครรภ์เท่านั้น แต่อาจบ่งชี้ถึงโรคบางประการ ดังนั้น หากร่างกายมีอาการผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อจะได้หาสาเหตุและรับมือได้อย่างถูกวิธี

    สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์

    หากรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอตรวจสุขภาพร่างกายของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ หรือหากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ทั้งยังทำให้ได้รับข้อมูลในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ที่ถูกต้องด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุดังต่อไปนี้ 
    • กรดโฟลิก และโฟเลต ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเซลล์ในร่างกายของทารกในครรภ์ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะท่อประสาทผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วย
    • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง 
    • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตกระดูก 
    • กรดไขมันดีเอชเอ (DHA) และกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาของสมองและประสาทตาของทารกในครรภ์
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น เนื้อปลาดิบ ไข่ดิบ นมและน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านพาสเจอร์ไรส์ เพราะอาจมีแบคทีเรีย พยาธิ สารปรอท เป็นต้น ที่อาจทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์ป่วยได้ เช่น อาหารเป็นพิษ ทารกในครรภ์มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง 
  • งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคติน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเอทานอล อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ หรืออาจนำไปสู่การแท้งบุตรได้ 
  • ใช้ยาภายใต้คำแนะนำและการดูแลของคุณหมอ ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ จึงควรแจ้งคุณหมอเกี่ยวกับยาหรืออาหารเสริมที่ใช้อยู่ เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรหยุดยาเอง เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาภาวะซึมเศร้า เพราะอาจยิ่งส่งผลเสีย แต่ควรปรึกษาคุณหมอว่าสามารถปรับยาได้หรือไม่ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบข้างเคียงมากกว่า 
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 07/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา