backup og meta

นับวันตกไข่ อย่างแม่นยำ ด้วยเครื่องมือคำนวณการตกไข่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

    นับวันตกไข่ อย่างแม่นยำ ด้วยเครื่องมือคำนวณการตกไข่

    เครื่องมือคำนวณการตกไข่เป็นเครื่องมือที่ช่วย นับวันตกไข่ ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการตั้งครรภ์ โดยจะสามารถคำนวณวันแรกของประจำเดือนครั้งต่อไป ระยะปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ การนับวันตกไข่ จะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุดในผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอหรือประมาณทุก ๆ 28 วัน อย่างไรก็ตาม การนับวันตกไข่ไม่อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% จึงควรป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น สวมถุงยางอนามัย กินยาคุมกำเนิด ร่วมด้วยเสมอ

    การตกไข่ คืออะไร

    การตกไข่ (Ovulation) หมายถึง ช่วงระยะเวลาไม่กี่วันในรอบหนึ่งเดือนที่ไข่ของผู้หญิงหลุดออกจากรังไข่ แล้วเคลื่อนลงมาตามท่อนำไข่และพักอยู่บริเวณนั้นเป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง เพื่อรอการผสมกับอสุจิ เมื่ออสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุดและรวดเร็วมากที่สุดเดินทางมาถึงไข่ก็จะทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น โดยไข่จะแปรสภาพกลายเป็นตัวอ่อนและพัฒนาไปเป็นทารกในครรภ์ในที่สุด ในช่วงนี้ผนังมดลูกจะหนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน โดยทั่วไป อสุจิจะมีชีวิตอยู่ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงได้นานประมาณ 5 วันหลังจากนั้น ดังนั้น หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้ ผู้หญิงจะมีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุดในรอบเดือน เพราะเป็นช่วงที่มีอสุจิอยู่ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง

    นับวันตกไข่ มีประโยชน์อย่างไร

    การ นับวันตกไข่ มีประโยชน์ในการวางแผนการตั้งครรภ์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตกไข่ (Fertility window) หรือระหว่าง 5 วันก่อนวันตกไข่ วันตกไข่ ไปจนถึง 24 ชั่วโมงหลังวันตกไข่ อาจเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์เพราะอสุจิจะมีชีวิตอยู่ในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงยาวนานมากพอที่จะเดินทางไปผสมกับไข่ที่พักรออยู่บริเวณท่อนำไข่ได้ ทั้งนี้ หากผ่านวันตกไข่ไปแล้ว 14 วัน ไข่และอสุจิยังไม่ปฏิสนธิกันเป็นตัวอ่อน เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นทุกเดือนเพื่อรองรับการปฏิสนธิก็จะสลายตัวไปเป็นประจำเดือนในที่สุด

    การนับวันตกไข่ ทำได้ด้วยการจดบันทึกระยะห่างของประจำเดือนในแต่ละเดือน (จำนวนวันที่ห่างกันของวันแรกที่ประจำเดือนมาในแต่ละเดือน) หรือที่เรียกว่ารอบเดือน อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ทราบรอบเดือนของตัวเองและระบุวันตกไข่ได้แม่นยำมากขึ้น โดยทั่วไปวันตกไข่จะอยู่ในช่วง 12-14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ผู้วางแผนการตั้งครรภ์อาจใช้เครื่องคำนวณการตกไข่เพื่อหาวันตกไข่ที่แม่นยำได้เช่นกัน

    วิธีใช้เครื่องมือคำนวณการตกไข่

    เครื่องมือคำนวณการตกไข่ ของเว็บ hellokhunmor.com เป็น Health Tool หรือเครื่องมือสุขภาพที่จะช่วยให้ผู้หญิงคำนวณหรือนับช่วงวันตกไข่ ของตัวเองในเบื้องต้นได้ ซึ่งมีวิธีใช้ดังนี้

    • กดเลือกวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้เครื่องคำนวณการตกไข่ ซึ่งมีตั้งแต่ ติดตามรอบเดือน คำนวณโอกาสการมีลูก ไปจนถึง หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์
    • ใส่ข้อมูลวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
    • เลือกระยะเวลารอบเดือน (วัน) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 28 วัน
    • เลือกระยะช่วงมีประจำเดือน (วัน)
    • กดปุ่มคำนวณ

    เครื่องมือจะแสดงผลลัพธ์ของแต่ละหัวข้อออกมาดังนี้

  • ติดตามรอบเดือน เครื่องมือจะแสดงระยะเวลาก่อนที่จะถึงวันมีประจำเดือนในครั้งต่อไป และความเป็นไปได้ของการตั้งครรภ์
  • คำนวณโอกาสการมีลูก เครื่องมือจะแสดงระยะเวลาก่อนที่จะถึงวันตกไข่ และความเป็นไปได้ของการตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เครื่องมือจะแสดงระยะเวลาก่อนที่จะถึงวันตกไข่ และความเป็นไปได้ของการตั้งครรภ์
  • หมายเหตุ เครื่องมือคำนวณการตกไข่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ เนื่องจากการคำนวณระยะปลอดภัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพน้อย ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเพียงการคำนวณจากข้อมูลเบื้องต้น และระยะการตกไข่ของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกัน ตั้งแต่ 28-35 วัน ซึ่งอาจมาไม่สม่ำเสมอหรือแตกต่างไปจากนี้ จึงไม่สามารถลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ได้ 100% ควรป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเสมอ เช่น การสวมถุงยางอนามัย การกินยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด

    สัญญาณของอาการตกไข่

    นอกจากการใช้เครื่องมือคำนวณการตกไข่แล้ว อาจทราบถึงช่วงเวลาการตกไข่จากการสังเกตอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณของช่วงตกไข่ ดังนี้

    • มีตกขาวออกมามากกว่าปกติ
    • มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
    • ปากมดลูกอ่อนนุ่มและยกสูงขึ้น
    • ปวดคัดเต้านม
    • ท้องอืด
    • ปวดท้องน้อยข้างเดียว (ฝั่งที่มีการตกไข่)
    • มีเลือดออกกะปริบกะปรอย
    • มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา