backup og meta

ไข่ตก เกี่ยวข้องอย่างไรกับการตั้งครรภ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ไข่ตก เกี่ยวข้องอย่างไรกับการตั้งครรภ์

    ไข่ตก (Ovulation) เป็นช่วงเวลาที่รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกเต็มที่ออกมา ซึ่งเป็นวงจรที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เดือนของผู้หญิง โดยช่วงไข่ตกสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ ในช่วงประมาณ 2-3 วันก่อนไข่ตก เพื่อให้อสุจิสามารถเข้าไปรอการผสมในช่องคลอด อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น

    ไข่ตก คืออะไร

    ไข่ตก คือ ช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone หรือ LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกเต็มที่ออกมา โดยในแต่ละเดือนรังไข่ทั้ง 2 ข้างจะสลับกันปล่อยไข่ที่สุกเต็มที่ จากนั้นไข่ที่ถูกปล่อยออกมาจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ท่อนำไข่ เพื่อรอการผสมและปฏิสนธิกับอสุจิ

    ไข่ตกทำให้เกิดการตั้งครรภ์อย่างไร

    ไข่ตกจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ของการมีประจำเดือนในรอบถัดไป คือ เฉลี่ยประมาณ 28 วัน นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนรอบที่แล้ว โดยวันที่ไข่ตกจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน เมื่อถึงช่วงเวลาไข่ตกไข่ที่สุกเต็มที่จะเคลื่อนตัวไปรอการผสมกับอสุจิในท่อนำไข่ หากมีอสุจิเข้ามาผสมในช่วงเวลาที่มีไข่รออยู่จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น จากนั้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเคลื่อนตัวไปฝังตัวที่ผนังมดลูก และพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนเพื่อเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป

    การมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2-3 วัน ก่อนวันไข่ตกอาจช่วยให้อสุจิสามารถเข้าไปรอผสมกับไข่ก่อนวันไข่ตก เนื่องจากอสุจิสามารถมีอายุอยู่ในช่องคลอดได้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน และไข่มีอายุได้เพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ และมีเพศสัมพันธ์ก่อนไข่ตกอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น

    อาการไข่ตก

    ผู้หญิงสามารถสังเกตอาการต่อไปนี้ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าไข่ตก

    • ตกขาว อาจมีลักษณะเป็นเมือกใส หนา และลื่น คล้ายไข่ขาว และหลังจากนั้นตกขาวอาจมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นและข้นมากขึ้น หรืออาจไม่มีตกขาวหลั่งออกมาเลย
    • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่ไข่ตก จึงส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย
    • เจ็บคัดตึงเต้านม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้มีอาการปวดและคัดตึงเต้านม
    • อาการปวดท้อง อาจมีอาการปวดท้องทั้ง 2 ข้าง หรืออาจปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากผนังรังไข่บวมและตึงจากไข่ที่โตเต็มที่ไปกระตุ้นเส้นประสาทจนเกิดเป็นอาการปวด นอกจากนี้ ยังอาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อ ผนังรังไข่แตก หรือเกิดจากท่อนำไข่บีบรัดตัวขณะไข่ตก
    • ท้องอืดหรือท้องผูก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
    • ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ในช่วงไข่ตกเลือดจะไหลมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น และสร้างน้ำหล่อลื่นเพิ่มขึ้นเพื่อง่ายต่อการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการตอบสนองของวัฏจักรตามธรรมชาติในการสืบพันธุ์
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางคนอาจมีอาการปวดเมื่อยตัวและข้อในช่วงไข่ตก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นการหลั่งของสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandin) ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา