backup og meta

ประจําเดือนไม่มากี่วันท้อง และควรทำอย่างไรหากประจำเดือนไม่มา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    ประจําเดือนไม่มากี่วันท้อง และควรทำอย่างไรหากประจำเดือนไม่มา

    ประจําเดือนไม่มากี่วันท้อง ? เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย เพราะโดยปกติประจำเดือนจะมาทุก ๆ 28 วัน เมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ การที่ประจำเดือนไม่มาจึงอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น หากสังเกตว่าประจำเดือนขาด ควรตรวจครรภ์โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์หรือหาสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา

    ประจําเดือนไม่มากี่วันท้อง

    โดยปกติในแต่ละเดือนผู้หญิงจะมีการตกไข่ ซึ่งเป็นกระบวนการปล่อยไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ อีกทั้งเยื่อบุมดลูกจะหนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น เยื่อบุมดลูกก็จะหลุดลอกออกและกลายเป็นประจำเดือน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 28 วัน แต่บางคนอาจมีประจำเดือนเร็วหรือช้ากว่านั้น 

    อย่างไรก็ตาม หากประจำเดือนที่ไม่มานานเกิน 30 วัน หรือ 1 เดือน โดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกจากทางช่องคลอดเล็กน้อย ประจำเดือนขาด ปวดท้องเกร็ง เหนื่อยล้าง่าย เต้านมคัดและขยายใหญ่ ก็อาจเป็นสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ และควรทำการตรวจครรภ์หรือเข้าพบคุณหมอในทันที

    สาเหตุที่อาจทำให้ประจำเดือนไม่มา

    สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ประจำเดือนไม่มานอกเหนือจากการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

    • ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิด เช่น ยาคุมแบบฉีด แบบฝัง แผ่นแปะบนผิว หรือแบบเม็ดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนทั้ง 2 ชนิดหรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงชนิดเดียว อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ ทำให้ไข่ไม่ตก และส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้
    • ความเครียด อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่ จึงอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา นอกจากนี้ การออกกำลังกายมากเกินไปก็อาจสร้างความเครียดให้แก่ร่างกายและส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน
    • น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักน้อยหรือน้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จำเป็นต่อการตกไข่เกิดความไม่สมดุลและอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา
    • วัยหมดประจำเดือน พบได้มากในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป ที่เกิดจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ จึงทำให้ประจำเดือนไม่มาหรืออาจหยุดลงโดยสมบูรณ์

    นอกจากนี้ การใช้ยารักษาโรคทางจิต ยาลดความดันโลหิต การใช้เคมีบำบัดโรคมะเร็ง ยากล่อมประสาท รวมไปถึงภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ก็อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ ทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่เสียสมดุล และอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน

    ประจำเดือนไม่มาควรทำอย่างไร

    หากประจำเดือนไม่มาและเกิดคำถามที่ว่า ประจำเดือนไม่มากี่วันท้อง ควรทำการตรวจครรภ์หลังจากประจำเดือนไม่มาตามปกติอย่างน้อย 14 วัน โดยควรตรวจปัสสาวะแรกของวันเนื่องจากมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์สูง (HCG) และไม่ควรดื่มน้ำก่อนตรวจเพื่อป้องกันปัสสาวะเจือจางที่อาจทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อน โดยชุดทดสอบการตั้งครรภ์อาจมี 2 ประเภท ดังนี้

    1. การใช้ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะหยดลงบนตลับทดสอบการตั้งครรภ์ในช่องที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด
    • วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที ในพื้นที่ที่แห้งสนิท เพื่อรอผลทดสอบ

    2. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำกระดาษทดสอบ หรือถอดฝาเครื่องทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วนำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 7-10 วินาที โดยควรจุ่มไม่เกินเส้นสีแดงหรือสัญลักษณ์ที่กำหนด
    • วางกระดาษในพื้นที่สะอาดหรือปิดฝาอุปกรณ์และวางในพื้นที่แห้งสนิท เพื่อรอผลทดสอบ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 5 นาที

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ทั้ง 2 รูปแบบจะมีตัวอักษร C (Control Line) และ T (Test Line) เมื่อถึงเวลาอ่านค่าผลทดสอบ หากพบว่าเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีดอย่างชัดเจนจะมีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์ แต่หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีดอย่างชัดเจน อาจมีความหมายว่ากำลังตั้งครรภ์ ถ้าเส้นสีแดงมีสีจาง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบใหม่ในเช้าวันถัดไป

    การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนไม่มา

    สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มาด้วยสาเหตุอื่น ๆ ควรปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง ดังต่อไปนี้

    • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ นอนพักผ่อน นั่งสมาธิ
    • หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด เมื่อรับประทานยาคุมแผงเดิมหมด เพื่อรอให้ประจำเดือนมาตามปกติในรอบเดือนถัดไป โดยใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นที่ไม่ใช่ฮอร์โมนแทนในช่วงที่หยุดยาคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอในการถอดอุปกรณ์คุมกำเนิดหรือเลิกใช้การคุมกำเนิด แต่โดยทั่วไปการกินยาคุมกำเนิดระยะเวลานานอาจทำให้ประจำเดือนน้อยลงจนหายไปได้ ซึ่งไม่ได้มีผลระยะยาวต่อร่างกาย
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน น้ำอัดลม
    • ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น วิ่งเหยาะ วิ่งบนลู่วิ่ง เดินเร็ว ไม่ควรหักโหมร่างกายตนเอง และไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงหนักจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายมีความเครียด เหนื่อยล้า อ่อนเพลียที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพจากคุณหมอพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา เช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา