ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน คือ อาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย และอาจปวดไปจนถึงหลังหรือต้นขา เกิดจากฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาในช่วงที่เป็นประจำเดือน อาการนี้อาจรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน และความรุนแรงของอาการอาจลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาจหายไปได้เองหลังมีบุตร นอกจากนี้ อาการปวดท้องยังอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนบางประการ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก หากอาการปวดรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาอาการปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน และวินิจฉัยเพิ่มเติมในกรณีที่อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย
[embed-health-tool-ovulation]
ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน เกิดจากอะไร
การปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
ปวดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea)
เป็นอาการปวดประจำเดือนทั่วไป ที่เกิดจากสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกให้บีบตัวและหดเกร็งเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือน หากมดลูกหดตัวรุนแรงเกินไป อาจไปกดทับหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียง และขัดขวางการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณมดลูกได้ เมื่อมดลูกขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องและมีตะคริว การปวดประจำเดือนลักษณะนี้มักมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ ที่เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนแปรปรวน
ปวดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)
เป็นอาการ ปวดท้องน้อยก่อนประจำเดือน และระหว่างเป็นประจำเดือนที่รุนแรงและเรื้อรัง อาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis externa) เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกฝังตัวและเจริญผิดที่ โดยอาจเข้าไป โดยอาจเข้าไปอยู่ภายนอกมดลูก เช่น บริเวณท่อนำไข่ รังไข่ ลำไส้ หรือภายในช่องอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดพังผืดหรือเป็นถุงน้ำหรือช็อกโกแลตซีสต์
- ภาวะมดลูกโต (Adenomyosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แบบฝังตัวอยู่ในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากผิวด้านในของมดลูก เช่น ผนังมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เนื้อมดลูกบวมหรือขยายเป็นก้อน จนปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน
- เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) เป็นก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก มีส่วนทำให้ประจำเดือนมามากและเกิดอาการปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นภาวะที่มดลูกติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นใกล้เคียงได้ อาจทำให้ปากมดลูกตีบตัน ส่งผลต่อการไหลของประจำเดือนและทำให้เกิดแรงดันภายในมดลูก จนเกิดอาการปวดท้องน้อยได้
- ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital cervical stenosis) หรืออาจเกิดขึ้นภายหลัง (Acquire cervical stenosis) จากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ ปากมดลูกอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดและทำให้รูปากมดลูกตีบแคบลง หรือปากมดลูกฉีกขาด จากการขูดมดลูก ทำให้เกิดพังผืดมาปิดกั้นบริเวณรูเปิด
อาการปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน
อาการ ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน อาจมีดังนี้
- ปวดบริเวณท้องน้อยประมาณ 2-3 วันในแต่ละรอบเดือน
- ปวดมวนท้อง รู้สึกเหมือนมีแรงกดตรงหน้าท้อง
- ปวดบริเวณท้องน้อยอย่างรุนแรง
- ปวดสะโพก บริเวณหลังส่วนล่าง และต้นขาด้านใน
อาการร่วมอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนเพศแปรปรวนในช่วงตกไข่ มักเกิดในอาการปวดประจำเดือนปฐมภูมิ เช่น
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- ท้องเสียหรือท้องผูก
การรักษาอาการ ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจำเดือน
การรักษาอาการปวดท้องก่อนเป็นประจำเดือน อาจทำได้ดังนี้
- ใช้ยาบรรเทาปวด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากจะมีประจำเดือน อาจเริ่มรับประทานยาก่อนวันที่คาดว่าจะเป็นประจำเดือน 1 วัน และรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการระหว่างเป็นประจำเดือน
- ใช้ยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เช่น ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Pill) ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินรวมกันใน 1 เม็ด ออกฤทธิ์ป้องกันการตกไข่และอาจลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนได้
- การผ่าตัด หากอาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือมีพังผืดในช่องท้อง อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอย่างตรงจุด ในบางรายที่ไม่ต้องการมีบุตร คุณหมออาจใช้วิธีผ่าตัดนำมดลูกออก ซึ่งจะป้องกันเกิดอาการปวดท้องประจำเดือนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคต เช่น เนื้องอก ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อ ปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน
การดูแลตัวเองเมื่อปวดท้องน้อยก่อนเป็นประจําเดือน อาจทำได้ดังนี้
- ใช้ถุงน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อย เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมง/วัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ปวดและตึง
- ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสงบ เช่น โยคะ นั่งสมาธิ
- อาบน้ำอุ่น เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเกร็งของมดลูก และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- ออกกำลังกายเบา ๆ โดยเลือกที่เหมาะกับสภาพของร่างกาย เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ทำงานบ้านทั่วไป