backup og meta

ผู้ชายท้องได้ไหม มีวิธีไหนช่วยให้ผู้ชายท้องได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    ผู้ชายท้องได้ไหม มีวิธีไหนช่วยให้ผู้ชายท้องได้บ้าง

    ผู้ชายท้องได้ไหม? อาจเป็นคำถามที่หลายคนเคยสงสัย และคำตอบคือเพศชายไม่สามารถท้องได้ เนื่องจากเพศชายไม่มีมดลูกและรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงที่สำคัญต่อกระบวนการตั้งครรภ์และมีแต่ในเพศหญิงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี เพศชายรวมถึงผู้หญิงข้ามเพศ อาจตั้งครรภ์ได้ด้วยการปลูกถ่ายมดลูก ซึ่งเป็นขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการแพทย์ แต่ความเป็นไปได้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายมดลูกในเพศชายยังต่ำมาก ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนว่า การผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายมดลูกดังกล่าวจะทำให้เพศชายตั้งครรภ์ได้จริง

    ผู้ชายท้องได้ไหม

    ตามธรรมชาติแล้ว ผู้ชายไม่สามารถท้องได้ เนื่องจากผู้ชายไม่มีรังไข่และมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

    เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ รังไข่จะผลิตไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงออกมาเดือนละ 1 ฟอง ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ (Follicle Stimulating Hormone) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone) ที่หลั่งออกมาจากสมอง และถูกส่งมายังรังไข่ผ่านหลอดเลือด

    เมื่อไข่สมบูรณ์หรือพร้อมสำหรับการสืบพันธุ์แล้ว ไข่จะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่ ซึ่งเชื่อมต่อกับมดลูก เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชายที่ถูกส่งเข้ามาผ่านทางช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์

    หากไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ไข่จะเคลื่อนไปฝังตัวที่ผนังมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการปฏิสนธิ ผนังมดลูกจะหลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือนและไข่ฝ่อสลายไปตามธรรมชาติ และรังไข่จะเริ่มกระบวนการผลิตไข่อีกครั้งสำหรับรอบเดือนถัดไป

    ผู้ชายข้ามเพศท้องได้ไหม

    ผู้ชายข้ามเพศ หรือผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพโดยกำเนิดเป็นหญิง ทว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชายหรือแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ชาย สามารถตั้งครรภ์ได้ หากยังไม่ผ่าตัดแนำรังไข่และมดลูกออกจากร่างกาย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสบการณ์ตั้งครรภ์ของผู้ชายข้ามเพศ ตีพิมพ์ในวารสาร Obstetrics & Gynecology ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยทำการศึกษาผู้ชายข้ามเพศจำนวน 41 ราย ด้วยการใช้แบบสอบถาม พบว่า

    • 88 เปอร์เซ็นต์ ตั้งครรภ์ด้วยเซลล์ไข่จากรังไข่ของตัวเอง
    • 78 เปอร์เซ็นต์ คลอดบุตรที่โรงพยาบาล
    • 61 เปอร์เซ็นต์ บริโภคฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทดแทน ก่อนการตั้งครรภ์เพื่อสร้างหรือคงลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงที่ทุ้มใหญ่ มวลกล้ามเนื้อที่มากกว่าเพศหญิง หนวดหรือเส้นขนบนร่างกายที่ดกกว่าเพศหญิง
    • 50 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการดูแลก่อนคลอดโดยคุณหมอ

    ผู้ชายข้ามเพศที่ไม่ผ่าตัดแปลงเพศและยังคงมีรังไข่และมดลูกอยู่ภายในระบบสืบพันธุ์จึงสามารถตั้งครรภ์ได้

    การปลูกถ่ายมดลูก อาจทำให้ผู้ชายท้องได้จริงหรือไม่

    มีการสันนิษฐานว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูก (Uterine Transplantation) อาจช่วยให้ผู้ชายตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกยังเป็นเพียงทฤษฎี และปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกสามารถทำให้ผู้ชายตั้งครรภ์ได้จริง

    ทั้งนี้ หากการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกได้รับการพิสูจน์ว่าอาจสามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้จริงในอนาคต ขั้นตอนที่จะทำให้เพศชายสามารถมีบุตรได้จะประกอบด้วยกระบวนการ ดังนี้

  • เข้ารับการพิจารณาจากคุณหมอเพื่อตรวจและวินิจฉัยความพร้อมทั้งทางกายภาพ อารมณ์ จิตใจ และทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • การบริโภคยากดภูมิคุ้มกัน หลังการปลูกถ่ายมดลูกสำเร็จและตลอดช่วงเวลาตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธสิ่งแปลกปลอมอย่างมดลูกที่ถูกปลูกถ่ายเข้าสู่ร่างกาย
  • การบริโภคฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progestogen) หลังการผ่าตัด เพื่อกระตุ้นให้มดลูกสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมารองรับตัวอ่อนที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในครรภ์
  • อย่างไรก็ตาม กระบวนการตั้งครรภ์นั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างมาก นอกเหนือจากความพร้อมด้านร่างกายที่ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชายท้องได้จากการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูก แต่ยังมีเรื่องของการดูแลครรภ์ ภาวะแทรกซ้อน ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยและสุขภาพของทารก ดังนั้น ผู้ชายท้องได้ไหม ยังคงต้องมีการศึกษาและทดลองเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นสำคัญ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา