backup og meta

อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

    อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน หรือการเจ็บท้องหลอก (Braxton Hicks contractions) เป็นภาวะปกติสำหรับผู้ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจรู้สึกแน่นท้อง และบางครั้งอาจมีอาการเจ็บท้องด้วย อาการที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หรือผู้ใกล้ชิดสับสนระหว่างการเจ็บท้องหลอกและการเจ็บท้องคลอดจริง แต่การเจ็บท้องคลอดจริงจะเกิดถี่กว่าและรุนแรงกว่า และมักเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอด มดลูกอาจบีบตัวเป็นระยะด้วย เนื่องจากร่างกายเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก นอกจากนี้ อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือนยังอาจเกิดจากทารกดิ้นแรง การมีเพศสัมพันธ์ และการเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไปของคุณแม่ ในระยะนี้คุณแม่อาจต้องดูแลตัวเองและพักผ่อนเยอะ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์

    อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน เกิดจากอะไร

    อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือนอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • มดลูกหดเกร็ง เมื่อมดลูกหดเกร็ง สัมผัสแล้วอาจรู้สึกว่าท้องแข็ง เป็นก้อน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อย
    • ดื่มน้ำน้อยเกินไป เมื่อร่างกายคุณแม่อยู่ในภาวะขาดน้ำ อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อและมดลูกหดเกร็ง จนมีอาการท้องแข็ง
    • มีเพศสัมพันธ์ การถึงจุดสุดยอดอาจทำให้มดลูกหดเกร็งตัว ส่งผลให้มีอาการท้องแข็งได้
    • คุณแม่ขยับร่างกายเยอะ เมื่อคุณแม่ขยับร่างกายมากเกินไป หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ เช่น การยกของหนัก การเดินไกล ๆ อาจทำให้มีอาการท้องแข็งและเจ็บท้องได้
    • รับประทานอาหารเยอะเกินไป ในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน มดลูกจะขยายตัวจนทำให้พื้นที่ในกระเพาะอาหารน้อยลง เมื่อเกิดกระบวนการย่อยอาหาร กระเพาะอาหารจะไปเบียดกับมดลูก จึงทำให้มดลูกเกร็งตัวและท้องแข็งตึง
    • คลอดก่อนกำหนด อาการท้องแข็งอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรสังเกตตัวเองว่านอกจากอาการท้องแข็งแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงการเจ็บท้องคลอดจริงร่วมด้วยหรือไม่ เช่น รู้สึกปวดท้องถี่ ๆ ถุงน้ำคร่ำแตกหรือน้ำเดิน
    • ใกล้คลอด ช่วงใกล้คลอด มดลูกจะเริ่มขยายตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จนอาจส่งผลให้มดลูกเกร็งตัว เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกว่าท้องแข็งเป็นก้อน

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน อาจมีดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยคนท้องควรดื่มน้ำอย่างน้อย1.8-2.8 ลิตร/วัน หรือ 8-12 แก้ว/วัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการร่างกายตัวเองและทารกในครรภ์ เพราะนอกจากน้ำจะช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำคร่ำรอบ ๆ ตัวทารกด้วย
  • อาบน้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายร่างกายและกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรอาบนานเกิน 15 นาที และไม่ควรให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส เนื่องจากคนท้องระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป อาจทำให้ไม่สบาย และวิงเวียนศีรษะได้
  • นั่งหรือเอนหลัง เปลี่ยนท่าทางให้อยู่ในท่าที่สบายตัวมากที่สุด
  • รับประทานอาหารโดยแบ่งเป็นหลายมื้อ ในแต่ละมื้อรับประทานในปริมาณที่ลดลง และแบ่งเป็น 3 มื้อหลักและ 3 มื้อย่อย เนื่องจากกระเพาะอาหารมีเนื้อที่น้อยลง จึงทำให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารลดลง การรับประทานมื้อใหญ่จะทำให้กระเพาะอาหารไปเบียดกับมดลูก ทำให้ท้องตึงแน่น ไม่สบายตัวได้
  • ปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด เนื่องจากการอั้นปัสสาวะจะไปกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะขยายตัว แล้วไปเบียดมดลูกจนเกิดอาการท้องแข็งได้
  • คุณแม่ควรลดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะ เช่น เดินไกล ๆ ยกของหนักเกินไป แต่ยังสามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ หากไม่ได้มีปัญหาสุขภาพที่คุณหมอแนะนำไม่ให้ออกกำลังกาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • สังเกตอาการเสมอว่าเป็นอาการท้องแข็งปกติหรือเป็นการเจ็บท้องจริงที่มีอาการรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นกรณีหลังควรรีบไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือนสามารถพบได้บ่อย ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ อาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การแท้งลูก

    • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด
    • รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือน้อยกว่า 10 ครั้งในรอบ 2 ชั่วโมง
    • มีอาการปวดท้องถี่ ๆ และในแต่ละครั้งนานประมาณ 40-60 วินาที อาจเป็นสัญญาณการจากปวดท้องคลอดจริง มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา