backup og meta

ผู้หญิงมีความต้องการถึงอายุเท่าไหร่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    ผู้หญิงมีความต้องการถึงอายุเท่าไหร่

    เมื่ออายุมากขึ้นสุขภาพร่างกายรวมถึงสมรรถภาพทางเพศอาจลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ความต้องการทางเพศอาจลดลงง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยทางสภาพร่างกายหลายอย่าง จนอาจเกิดข้อสงสัยว่า ผู้หญิง มี ความ ต้องการ ถึง อายุ เท่า ไหร่ ซึ่งความต้องการทางเพศในผู้หญิงอาจลดลงหรือหมดไปเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรืออายุประมาณ 45-55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการทางเพศอาจลดลงเร็วหรือช้ากว่าปกติได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน

    ผู้หญิง มี ความ ต้องการ ถึง อายุ เท่า ไหร่

    สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ผู้หญิงมีความต้องการถึงอายุเท่าไหร่ ในกรณีนี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลัก คือ การเสื่อมถอยของสุขภาพร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศที่ส่งผลต่อความต้องการทางเพศในผู้หญิง ดังนั้น โดยทั่วไปผู้หญิงมักมีความต้องการทางเพศที่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรืออายุเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง อาจทำให้ผู้หญิงมีอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เจ็บปวดและอึดอัดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้มีความสนใจในเรื่องเพศน้อยลงตามไปด้วย

    อย่างไรก็ตาม ความต้องการทางเพศถูกกำหนดโดยการทำงานของสมอง ฮอร์โมน ความเชื่อและทัศนคติในเรื่องเพศของแต่ละบุคคล ผู้หญิงบางคนจึงอาจยังคงมีความต้องการทางเพศอยู่ถึงแม้ว่าจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือบางคนอาจไม่สนใจเรื่องเพศตั้งแต่ก่อนวัยหมดประจำเดือนเลยก็ได้

    ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต้องการทางเพศในผู้หญิง

    สาเหตุที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง

    ความต้องการทางเพศอาจถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ลดลง ทำให้ความตื่นตัว ความรู้สึกทางเพศ ความไวต่อการสัมผัสและการเล้าโลมลดลง ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงตามไปด้วย

    นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ความต้องการทางเพศในผู้หญิงลดลงได้ ดังนี้

    • วัยหมดประจำเดือน ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อาจส่งผลให้บางคนเกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรืออึดอัดในการมีเพศสัมพันธ์
    • การตั้งครรภ์และให้นมบุตร การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้ ร่วมกับความเหนื่อยล้า ความกดดันขณะตั้งครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
    • ปัญหาทางกายภาพ เช่น ความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีเพสัมพันธ์ โรคเรื้อรัง (เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ) การใช้ยาบางชนิด พฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป) การผ่าตัด ความเหนื่อยล้า ปัญหาเหล่านี้ล้วนอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายและความเสื่อมโทรมของสุขภาพ ที่อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
    • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียด ความนับถือตนเองลดลง เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ เคยมีประสบการทางเพศในเชิงลบ ความรู้สึกด้านลบของสภาพจิตใจ อาจทำให้ความต้องการทางเพศในผู้หญิงลดลงได้
    • ปัญหาความสัมพันธ์ การทะเลาะ การนอกใจ ความขัดแย้งในครอบครัว รสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกัน การไม่สื่อสาร สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ ซึ่งเชื่อมโยงกับความต้องการทางเพศระหว่างคู่รัก

    วิธีช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ

    ความต้องการทางเพศสามารถลดลงได้เป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นระดับฮอร์โมนและสุขภาพร่างกายย่อมเสื่อมถอยลงตามธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางธรรมชาติของร่างกายได้ วิธีต่อไปนี้อาจช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์และอาจช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้

    • ลองใช้สื่อหรือเครื่องมือกระตุ้น เช่น วิดีโอ นิยายผู้ใหญ่ เซ็กส์ทอย (Sex Toy) ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความตื่นเต้นและช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการมีเพศสัมพันธ์
    • ลองเทคนิคเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การนวด การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ การจินตนาการ การเปิดเพลงเพื่อเร้าอารมณ์ อาจมีส่วนช่วยสร้างจินตนาการและสร้างบรรยากาศในเกิดอารมณ์ทางเพศมากขึ้น
    • การเล้าโลม เช่น การลูบ การสัมผัส การจูบ ออรัลเซ็กส์ ร่วมกับการสื่อสารกับคู่รักเพื่อให้การเล้าโลมอยู่ในจุดที่ผู้หญิงพึงพอใจ อาจช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศมากขึ้น
    • ลดความรู้สึกเจ็บปวด ผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้นอาจรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การสื่อสารกับคู่รัก เช่น การสอดใส่ไม่ให้ลึกมากเกินไป จังหวะช้า ๆ และไม่รุนแรง การใช้สารหล่อลื่น การอาบน้ำอุ่นเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อก่อนมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยลดความเครียดและบรรเทาความเจ็บปวดได้
    • การสื่อสารกับคู่รักให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าทุกวิธีที่กล่าวมาจะต้องมีการสื่อสารรวมอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การสื่อสารในระหว่างมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คู่รักรู้ได้ว่าจุดไหนสบายหรือจุดไหนทำให้เจ็บปวด ซึ่งอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นตามไปด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา