backup og meta

ฟีโรโมน คืออะไร ส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศจริงไหม

ฟีโรโมน คืออะไร ส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศจริงไหม

ฟีโรโมน (Pheromone) เป็นสารเคมีที่ร่างกายสัตว์หลั่งออกมาเพื่อส่งสัญญาณบางอย่าง หรือกระตุ้นให้เพื่อนร่วมฝูงหรือสัตว์ตัวอื่น ๆ ตื่นตัว หรือมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ฟีโรโมนในมนุษย์สันนิษฐานว่าเป็นสารที่หลั่งออกมาโดยมีลักษณะโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนและส่งผลกระทบต่อความรู้สึก อารมณ์หรือพฤติกรรมคนรอบข้าง เช่น เหงื่อ กลิ่นตัว

[embed-health-tool-ovulation]

ฟีโรโมนคืออะไร

ฟีโรโมนเป็นสารเคมีที่สัตว์หรือแมลงผลิตและหลั่งออกจากร่างกาย เพื่อทำหน้าที่เป็นสัญญาณสื่อสารกับสัตว์หรือแมลงตัวอื่น ๆ ในด้านต่าง ๆ เช่น

  • กระตุ้นให้สัตว์ตัวอื่นเกิดอารมณ์ทางเพศ
  • เตือนภัย หรือส่งสัญญาณให้สัตว์ตัวอื่นรับรู้ถึงภยันตราย
  • ส่งสัญญาณให้สัตว์ตัวอื่นรู้ถึงเส้นทางไปแหล่งอาหาร หรือเขตแดน
  • ส่งสัญญาณข่มขู่
  • ส่งสัญญาณว่าพร้อมสืบพันธุ์

ฟีโรโมน มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ฮอร์โมนที่ร่างกายสัตว์และแมลงหลั่งออกมา แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. ฟีโรโมนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทันที (Releaser Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่กระตุ้นให้เกิดการดึงดูดทางเพศและการระวังภัยในทันที
  2. ฟีโรโมนที่กระตุ้นแต่ไม่เกิดพฤติกรรมทันที (Primer Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่ใช้เวลานานกว่าจะออกฤทธิ์ หรือไม่ก่อให้เกิดผลทันที โดยมักเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อย่างรอบเดือน การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และความสำเร็จของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอาจแท้งลูกทันทีเมื่อสัมผัสกับฟีโรโมนชนิดนี้
  3. ฟีโรโมนส่งสัญญาณ (Signaler Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่หลั่งออกมาเพื่อให้สัตว์เพศเมียจดจำลูกของตนได้จากกลิ่น
  4. ฟีโรโมนปรับการทำงาน (Modulator Pheromone) เป็นฟีโรโมนที่มีคุณสมบัติปรับการทำงานของร่างกาย มักพบในเหงื่อของสัตว์ และอาจสัมพันธ์กับการมีรอบเดือนในสัตว์เพศเมีย

มนุษย์มีฟีโรโมนหรือไม่

แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าในร่างกายมนุษย์นั้นสามารถผลิต ฟีโรโมน ได้เช่นเดียวกับสัตว์หรือไม่ แต่มีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เองมีฟีโรโมนเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ โดยมีฟีโรโมนบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเพศ เช่น แอนโดรสตาเดียโนน (Androstadienone) เอสเทรทเทรนอล (Estratetraenol) ซึ่งพบฮอร์โมนเหล่านี้ในเหงื่อและกลิ่นตัว

ทั้งนี้ ฟีโรโมนจะทำหน้าที่แตกต่างจากฮอร์โมนตรงที่ ฮอร์โมนเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในร่างกาย ในขณะที่ฟีโรโมนเป็นสารที่หลั่งออกมาอยู่ภายนอกและส่งผลต่อผู้อื่นที่อยู่ใกล้ ทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการทางเพศ

นอกจากนี้ ยังมีสมมติฐานหลายข้อเกี่ยวกับฟีโรโมนในมนุษย์ อย่างสารคัดหลั่งจากหัวนมของหญิงระยะให้นมบุตรว่าอาจมีฟีโรโมนที่กระตุ้นให้ทารกดูดนมจากมารดา หรือฟีโรโมนเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ด้วยกันมีรอบเดือนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ฟีโรโมน เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางเพศในมนุษย์อย่างไร

ฟีโรโมนในมนุษย์ เช่น เหงื่อ กลิ่นตัว ซึ่งมีฮอร์โมนบางชนิดเป็นส่วนประกอบนั้นอาจมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ โดยเฉพาะอารมณ์ทางเพศ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติของฟีโรโมนต่ออารมณ์และความต้องการทางเพศของผู้หญิง เผยแพร่ในวารสาร Facts, Views and Vision in Obstetrics and Gynaecology ปี พ.ศ. 2556 ระบุว่าฮอร์โมนแอนโดรสตาเดียโนน ซึ่งเปรียบเสมือนฟีโรโมนของมนุษย์นั้น พบมากในเหงื่อของเพศชายและสามารถตรวจจับได้โดยระบบประสาทรับสัญญาณของเพศหญิง โดยแอนโดรสตาเดียโนนมีผลแง่บวกต่ออารมณ์ สมาธิ และอารมณ์ทางเพศของเพศหญิง นอกจากนั้น ฟีโรโมนยังอาจสัมพันธ์ต่อการเลือกคู่ของมนุษย์อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้น ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของฟีโรโมนเอสเทรทเทรนอล ซึ่งผลิตและหลั่งจากร่างกายเพศหญิง ต่อการตอบสนองของเพศชาย ตีพิมพ์ในวารสาร Social Cognitive and Affective Neuroscience ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างเพศชายสัมผัสกับเอสเทรทเทรนอล แล้วทดสอบพฤติกรรมของต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ผลปรากฏว่า เอสเทรทเทรนอลช่วยให้เพศชายทำงานได้แม่นยำมากขึ้น รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศด้วย

ฟีโรโมน ในน้ำหอมเพิ่มแรงดึงดูดทางเพศได้จริงหรือไม่

ในปัจจุบัน มีน้ำหอมจำนวนไม่น้อยที่ผสมฟีโรโมนสังเคราะห์เนื่องจากสันนิษฐานว่าเมื่อใช้น้ำหอมที่ผสมฟีโรโมนแล้วจะช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของฟีโรโมนต่อพฤติกรรมทางเพศในผู้หญิง เผยแพร่ในวารสาร Bratislava Medical Journal ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวเพศหญิงเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้ใช้น้ำหอมผสมฟีโรโมน ส่วนอีกกลุ่มให้ใช้น้ำหอมผสมยาหลอก ในระยะเวลาเท่า ๆ กัน

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงกลุ่มที่ใช้น้ำหอมผสมฟีโรโมนมีพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศถี่ขึ้นกว่าผู้หญิงที่ใช้น้ำหอมผสมยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยคิดเป็นความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นประมาณ 74 เปอร์เซนต์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การจูบและการแสดงออกซึ่งความรัก
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • การออกเดทอย่างเป็นทางการ
  • การนอนหลับข้าง ๆ คู่รัก

ในขณะที่ผู้หญิงที่ใช้น้ำหอมผสมยาหลอกมีพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศถี่ขึ้นกว่าผู้หญิงที่ใช้น้ำหอมผสมฟีโรโมน โดยคิดเป็นความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นประมาณ  23 เปอร์เซ็นต์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า ฟีโรโมนสังเคราะห์ในน้ำหอมอาจช่วยเพิ่มเสน่ห์ทางเพศที่ผู้หญิงมีต่อผู้ชายได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pheromones and their effect on women’s mood and sexuality. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3987372/. Accessed October 27, 2022

A scent of romance: human putative pheromone affects men’s sexual cognition. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6778825/. Accessed October 27, 2022

Pheromonal influences on sociosexual behavior in young women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11897264/. Accessed October 27, 2022

Got Pheromones? Get Affection. https://www.webmd.com/sexual-conditions/news/20020320/got-pheromones-get-affection#:~:text=Pheromones%20are%20body%20secretions%20that,in%20the%20study%20was%20artificial. Accessed October 27, 2022

Pheromones: Potential Participants in Your Sex Life. https://www.webmd.com/sex-relationships/features/sex-life-phermones. Accessed October 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

Non Binary คือ อะไร ต่างจากกลุ่มเพศทางเลือกอื่นอย่างไร

ขนาดอวัยวะเพศชาย มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา